คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9801/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น. เป็นผู้คิดค้นรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทสปอร์ตเรียลลิตี้ “THE WINNER” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์จัดประกวดและคัดเลือกนักฟุตบอลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อทำการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ แม้รูปแบบรายการโทรทัศน์ดังกล่าวที่ น. คิดขึ้นในขณะนำมาเสนอกับจำเลยจะยังไม่มีการแสดงออกทางความคิดจนเกิดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์โดยมี น. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวและได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน โดยจำเลยตกลงที่จะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการได้สิทธิผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์อนุญาตให้สิทธิจำเลยผลิตรายการตามรูปแบบรายการดังกล่าวและนำไปออกอากาศจึงมีผลผูกพันและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลย
โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ชื่อ “THE WINNER” ก่อนที่โจทก์จะได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวซึ่งขณะนั้นไม่มีงานลิขสิทธิ์เกิดขึ้น การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะต้องมีการสร้างสรรค์งานและเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
โจทก์เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนที่จำเลยจะนำมาตัดต่อเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เป็นตอนที่ 1 ถึง 3 โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
จำเลยได้มีการประชุมร่วมกับโจทก์และตกลงให้จำเลยตัดต่อเทปต้นฉบับเพื่อออกอากาศใหม่ ถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำการตัดต่อเทปตอนที่ 1 ถึง 3 ใหม่ตามการแสดงออกทางความคิดของจำเลยเพื่อออกอากาศ เป็นการที่โจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงงานโสตทัศน์วัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปโทรทัศน์รายการโทรทัศน์ที่ดัดแปลงแล้วนำออกอากาศในตอนที่ 1 ถึง 3 ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11 จำเลยนำเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึง 3 ที่จำเลยได้ออกอากาศมาตัดต่อใหม่เป็นเทปรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตอนที่ 4 ถึง 6 เป็นการที่จำเลยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ตอนที่ 4 ถึงที่ 6 ดังกล่าว
เทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 เป็นเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยสร้างสรรค์ขึ้นภายหลังที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ให้สิทธิจำเลยในการผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในรูปแบบรายการดังกล่าว โดยไม่ปรากฎข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิต จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,191,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 2,940,530 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้เพิกถอนทะเบียนข้อมูลเลขที่ ส.2702 ข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานโสตทัศนวัสดุ ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ของโจทก์ ให้จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุ ลักษณะงานการถ่ายทำบันทึกเทปโทรทัศน์อันเกี่ยวกับการจัดทำกิจกรรมคัดเลือกตัวเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 18 ปี เพื่อเป็นตัวแทนนักเรียนไทยไปทำการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตบอลเยาวชนนักเรียนเอเชียอายุไม่เกิน 18 ปี ชื่อผลงาน “เดอะวินเนอร์” แต่เพียงผู้เดียว และให้จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพลักษณะงานการนำงานโสตทัศนวัสดุที่จำเลยเป็นเจ้าของดังกล่าวแล้วทำการถ่ายทอดแพร่เสียงแพร่ภาพรายการการจัดทำกิจกรรมคัดเลือกตัวเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 18 ปี เพื่อเป็นตัวแทนนักเรียนไทยไปทำการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชิงแชมป์นักเรียนเอเชียอายุไม่เกิน 18 ปี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุรายการโทรทัศน์”THE WINNER” ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ถ่ายรายการงานโสตทัศนวัสดุ “THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 รวมถึงตอนที่ 4 ถึง 6 จนแล้วเสร็จออกมาเป็นเทปต้นฉบับงานโสตทัศนวัสดุ “THE WINNER” แม้โจทก์จะยังไม่ได้โฆษณางานแต่โจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีสัญชาติไทย งานโสตทัศนวัสดุดังกล่าวจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังยุติว่า นายนพดล กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เป็นผู้คิดค้นรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทประเภทสปอร์ตเรียลลิตี้ “THE WINNER” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์จัดประกวดและคัดเลือกนักฟุตบอลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อทำการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ แม้รูปแบบรายการโทรทัศน์ที่นายนพดลคิดขึ้นดังกล่าวในขณะมานำเสนอกับจำเลยจะยังไม่มีการแสดงออกทางความคิดจนเกิดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์โดยมีนายนพดลเป็นกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวและต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงทำบันทึกข้อตกลง โดยจำเลยตกลงที่จะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการได้สิทธิผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์อนุญาตให้สิทธิจำเลยผลิตรายการตามรูปแบบรายการดังกล่าวและนำไปออกอากาศจึงมีผลผูกพันและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลย สำหรับการที่โจทก์ได้แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ชื่อ “THE WINNER” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 เป็นการแจ้งก่อนที่โจทก์จะได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวซึ่งขณะนั้นไม่มีงานลิขสิทธิ์เกิดขึ้น การแจ้งดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะต้องมีการสร้างสรรค์งานและเข้าเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2) ได้ระบุเงื่อนไขของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานในกรณีที่ยังไม่มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานของตนที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นได้ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนที่จำเลยจะนำมาตัดต่อเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นตอนที่ 1 ถึง 3 ดังนั้นโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ ตอนที่ 1 ถึง 3 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อต่อมาจำเลยได้มีการประชุมร่วมกับโจทก์และตกลงให้จำเลยตัดต่อเทปต้นฉบับเพื่อออกอากาศใหม่ ถือว่าโจทก์ยินยอมให้โจทก์ทำการตัดต่อเทปตอนที่ 1 ถึง 3 ใหม่ตามการแสดงออกทางความคิดของจำเลยเพื่อออกอากาศ จึงเป็นการที่โจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ที่ดัดแปลงแล้วนำออกกาศในตอนที่ 1 ถึง 3 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11 สำหรับเทปรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 4 ถึง 6 เมื่อต่อมาข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยได้นำเทปรายการโทรทัศน์”THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 ที่จำเลยได้ออกอากาศซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยมาตัดต่อใหม่เป็นเทปรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 4 ถึง 6จึงเป็นการที่จำเลยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 4 ถึง 6 ดังกล่าว ส่วนเทปรายการโทรทัศน์ “THE WINNER ตอนที่ 7 ถึง 27 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าเป็นเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยได้สร้างสรรค์ขึ้นภายหลังที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลง ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ให้สิทธิจำเลยในการผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในรูปแบบรายการดังกล่าว โดยไม่ปรากฏข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิต จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 7 ถึง 27 ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้แสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดแบบหนึ่งอันจะถือว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุชุดรายการโทรทัศน์ ชื่อผลงาน “THE WINNER” ดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ที่ให้พิพากษากลับ คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินทดรองจ่ายในการผลิตรายการตอนที่ 1 ถึง 6 จำนวน 541,800 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายนพดล ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยและค่าประสานงานเพื่อทำการผลิตรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึง 6 เป็นเงิน 490,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 51,800 บาท รวม 541,800 บาท รายละเอียดตามสำเนาหนังสือติดตามหนี้สินค้างชำระ ส่วนจำเลยมีนายจรัส ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทจำเลยเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่เคยออกเงินทดรองจ่ายในการผลิตรายการ เงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดเป็นของจำเลย โจทก์รับเงินจากจำเลย 1,600,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงหลังเสร็จงานที่จังหวัดขอนแก่น มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทั้งหมด โจทก์คงแสดงหลักฐานการจ่ายเงินให้บริษัทเจ ครูว์ จำกัด 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือ 600,000 บาท โจทก์มีหลักฐานประกอบเพียงเล็กน้อย และส่วนที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ โจทก์อ้างว่าเป็นค่าแรงและค่าตัวโจทก์และพนักงานโจทก์ เห็นว่าตามหนังสือติดตามหนี้สินค้างชำระ ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยยังคงค้างชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโจทก์ ดังนี้ ค่าประสานงานกับซัพพลายเออร์ในช่วง 6 ตอนแรกของการผลิตรายการ 1. J CREW 250,000 บาท 2. THE STUDIO PRODUCTION 200,000 บาท 3. อาหารและร้านซักผ้าที่เดอะวินเนอร์ แคมป์ 40,000 บาท โดยนายจรัสตัวแทนของจำเลยตกลงกับตัวแทนของโจทก์ที่จะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสำเนาการประชุมวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ด้วยนั้น แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ส่งมาไม่ได้มีสำเนาการประชุมดังกล่าวมาแสดงด้วย และไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินดังกล่าวมาแสดงสนับสนุน ทั้งจำเลยนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์ไม่เคยออกเงินทดรองจ่ายในการผลิตรายการแทนจำเลย วันที่ 2 มิถุนายน 2548 โจทก์รับเงินจากจำเลย 1,605,000 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี แต่โจทก์จ่ายให้บริษัทเจ ครูว์ จำกัด (J CREW) เพียง 1,000,000 บาท และหลังจากนั้นก็จ่ายอีกประมาณ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาท ซึ่งนายนัดดาเพ็ญ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเจ ครูว์ จำกัด พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับในข้อนี้และยืนยันว่า เงินที่ได้รับจากโจทก์มีไม่ถึงร้อยละ 50 ของค่าผลิตรายการที่ตกลงกับโจทก์ แต่ภายหลังจำเลยชำระเงินค่าผลิตทั้งหมดให้เรียบร้อยแล้วพยานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน้อยกว่าพยานจำเลย จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ทดรองจ่ายเงิน 541,800 บาท แทนจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share