คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติในมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 เท่านั้น ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 มิได้ถูกยกเลิกด้วย
สินค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าคำว่า ประกอบอยู่ด้วย ส่วนคำอื่นที่ประกอบเพิ่มเติมมีขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็นความแตกต่าง แสดงว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้ามีคำว่า เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และเครื่องหมายการค้าที่ตัวผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าแตกต่างจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แม้ป้ายหุ้มห่อผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยกับพวกร่วมกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แต่ไม่มีฉลากสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ผลิตสินค้าที่จะเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมให้ประชาชนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกความแตกต่าง จึงมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงเชื่อไปได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตว่าประสงค์จะใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ถือได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 273 และ 275 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3, 14, 30, 31 และ 52 กับริบของกลางทั้งหมด จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาในวันนัดพร้อมจำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273
จำเลยยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายโก๊ะ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ลงโทษปรับ 5,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว แต่จำเลยได้ขอถอนคำให้การปฏิเสธเดิมเป็นให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้ว เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ข้อเท็จจริง ในสำนวนปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมว่า ในวันดังกล่าวโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 จำเลยยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ และจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว การให้การรับสารภาพของจำเลยในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องดังกล่าวเป็นการให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและเป็นการขอแก้ไขคำให้การของจำเลยก่อนศาลพิพากษา เมื่อความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อนหากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้โดยระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยให้การปฏิเสธและโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ตามคำฟ้องของโจทก์ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอม ดังเช่นที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 เท่านั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 มิได้ถูกยกเลิกด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งให้ความคุ้มครองเฉพาะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรตามหลักดินแดน เมื่อโจทก์ร่วมมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องไว้ในราชอาณาจักรจึงไม่ได้รับความคุ้มครองนั้นฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า กับรูปวงกลม คือเครื่องหมายการค้า ที่ติดอยู่กับสินค้าซึ่งจำเลยเสนอจำหน่ายนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า และ ที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นอกราชอาณาจักรแล้วสำหรับสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ และอะไหล่รถจักรยานยนต์ประเภทต่างๆ ในจำพวกที่ 6 และ 12 อันเป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ตามฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า และ ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยชอบนอกราชอาณาจักรสำหรับสินค้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และอะไหล่รถจักรยานยนต์ประเภทต่าง ๆ ในจำพวกที่ 6 และ 12 ตามสำเนาหลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏตามตัวอย่างสินค้ารวมทั้งภาชนะบรรจุสินค้าของกลางและภาพถ่ายประกอบคดีอาญา ว่า สินค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้า คำว่า ประกอบอยู่ด้วย แม้จะมีคำอื่นประกอบเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า ดังจะเห็นได้จากสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอขายนั้น หากเป็นสินค้าหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก การแสดงเครื่องหมายการค้าที่สินค้าดังกล่าวจะมีเพียงคำว่า เพียงคำเดียว ส่วนสินค้าที่มีขนาดกลาง จะมีการแสดงเครื่องหมายการค้าคำว่า ขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน ส่วนคำอื่นที่นำมาประกอบเพิ่มเติมนั้น มีขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็นความแตกต่าง จึงแสดงให้เห็นได้ว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่สินค้าตามวัตถุพยานและบัญชีคดีอาญาของกลางมีคำว่า ที่อ่านออกเสียงว่า “พอช” เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ล้วนแต่ใช้เครื่องหมายการค้าแตกต่างจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แม้จำเลยจะได้จัดให้มีป้ายหุ้มห่อผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยกับพวกร่วมกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แต่สินค้าดังกล่าวก็ไม่มีฉลากสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ผลิตสินค้าที่จะเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมให้ประชาชนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ร่วมกับสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า เป็นสาระสำคัญอยู่ด้วยดังเช่นที่แสดงไว้ในสินค้าของกลาง จึงมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงเชื่อไปได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังเช่นของกลางคดีนี้เป็นสินค้าของโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของผู้ที่ผลิตและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า กับสินค้าของกลางว่าประสงค์จะใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้อื่นโดยไม่สุจริต จึงออกแบบส่วนที่ใช้ประกอบเพิ่มเติมเครื่องหมายการค้าของตนในลักษณะที่ไม่โดดเด่นเพียงพอที่จะให้สาธารณชนเห็นความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ร่วมกับสินค้าของกลางที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของจำเลย เมื่อสินค้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ที่ใช้กับสินค้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และอะไหล่รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วม จึงถือได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง เป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษปรับ 7,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษในข้อหานี้ให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 3,500 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับ 5,000 บาท ในความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรแล้วเป็นปรับจำเลย 8,500 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share