แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านมข้นหวานในจำพวก 29 มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่กล่องหรือลังกระดาษสำหรับบรรจุ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้านมกระป๋องดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในกล่องกระดาษหรือลังดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมถือได้ว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น การเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 (1) นั้น จึงต้องเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะซึ่งมีระวางโทษหนักกว่า
เมื่อการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมคุณภาพของอาหารเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 25 (2) และ 27 จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ไม่อาจอุทธรณ์ในข้อหาความผิดฐานนี้ได้
แม้ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอมได้ ก็ต้องริบนมกระป๋องตรามะลิปลอมของกลางตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115 และ 117 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 25, 27 และ 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และ 272 กับริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทอุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต (ที่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอม ตามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และฐานเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เท่านั้น)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เป็นฟ้องที่ชอบที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้หรือไม่ และโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 25 (2) และ 27 หรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องสำหรับข้อหาความผิดฐานดังกล่าวว่า บริษัทโจทก์ร่วมประกอบอาชีพขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งนมข้นหวาน ภายใต้เครื่องหมายการค้า (นมตรามะลิ) โดยนำออกจำหน่ายในฐานะเป็นเจ้าของสินค้าในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และบริษัทโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 29 ในรายการสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งนมข้นหวาน ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อระหว่างวันเดือนและปีใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 เวลากลางวันต่อเนื่องเกี่ยวพันกันตลอดมา จำเลยได้บังอาจเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ (นมตรามะลิ) ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้และทำให้ปรากฏที่กล่องหรือลังกระดาษสำหรับใส่นมกระป๋องโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในกล่องกระดาษหรือลังดังกล่าวเป็นสินค้านมตรามะลิและการค้าของบริษัทโจทก์ร่วม เห็นว่า การเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้า (นมตรามะลิ) ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านมข้นหวานในจำพวกที่ 29 ในราชอาณาจักรมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่กล่องหรือลังกระดาษสำหรับบรรจุนมกระป๋องซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้านมกระป๋องดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในกล่องกระดาษหรือลังดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม ถือได้ว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนี้ การเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) นั้นจึงต้องเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะซึ่งมีระวางโทษหนักกว่า ระวางโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) อยู่แล้ว บทบัญญัติมาตรา 272 (1) ดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความที่เป็นเครื่องหมายการค้าเฉพาะที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ได้อีกแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหานี้แม้โจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ได้ ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงและยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยในความผิดฐานนี้โดยพิพากษายกฟ้องมานั้นจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบต้องพิพากษายกคำพิพากษาในส่วนนี้เสีย ส่วนปัญหาว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมคุณภาพอาหารเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 25 (2) และ 27 จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว บริษัทโจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ไม่อาจอุทธรณ์ในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดฐานดังกล่าว แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยถูกจับพร้อมนมข้นหวานตรามะลิปลอมจำนวน 160 กระป๋อง เป็นของกลางเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 จำเลยก็ให้การปฏิเสธโดยให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนั้น ซึ่งจำเลยไม่มีเวลาพอที่จะคิดแต่งเรื่องอันเป็นเท็จได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด สินค้าของกลางดังกล่าวเป็นของนายบรรจง โดยจำเลยยึดสินค้าของกลางมาเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2549 จำเลยให้นายบรรจงไปเก็บเงินจากลูกค้าร้านมั่นคงวัสดุก่อสร้าง ปรากฏว่านายบรรจงได้ยักยอกเอาเงินที่เก็บได้รวมจำนวน 67,400 บาท ต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์จำเลยจึงไปยึดของกลางดังกล่าวมาจากนายบรรจงเป็นหลักประกันการชำระหนี้ที่นายบรรจงต้องชดใช้เงินที่ยักยอกไปคืนแก่โจทก์ร่วม จำเลยไม่ทราบว่าสินค้านมข้นหวานตรามะลิของกลางจะเป็นของแท้หรือของปลอม ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยซึ่งได้ให้การในวันที่จำเลยถูกจับทันทีดังกล่าวสอดคล้องต้องกันกับทางนำสืบของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาทั้งหมดดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าสินค้านมข้นหวานตรามะลิจำนวน 160 กระป๋อง ของกลางเป็นสินค้าที่ติดฉลากเครื่องหมายการค้าตรามะลิของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง แล้ววินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนามีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอม จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ดังที่โจทก์ฟ้องได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้านมข้นหวานตรามะลิของกลางจำนวน 160 กระป๋อง โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าฉลากตรามะลิที่ติดที่กระป๋องของกลางมีสีอ่อน ซึ่งฉลากเครื่องหมายการค้าตรามะลิของแท้ต้องมีสีเข้ม ลอนที่ฝากระป๋องของกลางมีความถี่ ของแท้ลอนเป็นวงกว้าง กระป๋องของกลางสามารถวางซ้อนกันได้ แต่กระป๋องของแท้วางซ้อนกันไม่ได้ ก้นกระป๋องของกลางบอกวันหมดอายุและเลขรหัสไม่เหมือนกับของแท้ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าสินค้านมกระป๋องตรามะลิจำนวน 160 กระป๋อง ของกลางเป็นสินค้าปลอม แม้ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอมได้ ก็ต้องริบนมกระป๋องตรามะลิปลอมจำนวน 160 กระป๋อง ของกลางตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบนมข้นหวานตรามะลิจำนวน 160 กระป๋อง ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง