คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์ฟ้องว่าได้บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินมัดจำ กับเบี้ยปรับจากจำเลยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขาย ประเด็นที่วินิจฉัยในคดีก่อนมีว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบ แล้วหรือไม่ แต่คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ โดยศาลยังมิได้วินิจฉัย ในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีก่อน จำเลย โอนที่ดินตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิด สัญญาจะซื้อขายหรือไม่ ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้ กับคดีก่อนจึงอาศัยเหตุต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ การที่จำเลยโอนที่ดินที่จะซื้อขายให้บุคคลอื่นย่อมเห็นได้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นฝ่ายตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยย่อมไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์ได้อีก การชำระหนี้จึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบส่วนการที่โจทก์จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายให้ที่พิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้หรือไม่ อย่างไร เป็นคนละกรณีกับการชำระหนี้ซึ่งตก เป็นพ้นวิสัย ทั้งการที่โจทก์ฟ้องคดีเท่ากับเป็นการเลิกสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 ในตัวอยู่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนมัดจำ พร้อมเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเพราะเหตุที่จำเลยไม่ไปทำการ โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์ไม่จำต้อง บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 จำเลยตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 24736 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม ให้โจทก์ในราคา 620,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำ 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวันที่ 25 ตุลาคม 2533 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้เพราะที่ดินถูกอายัดไว้จึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันใหม่เป็นวันที่ 25 มกราคม 2534 และตกลงว่าหากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ยินยอมคืนเงินมัดจำ หากไม่คืนยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 750,000 บาท เมื่อถึงกำหนดจำเลยยังไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้อีกจึงตกลงกันว่าจะกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ใหม่อีกครั้ง ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกเงินมัดจำและค่าปรับเป็นเงิน 922,500 บาท ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงโจทก์จำเลยไม่เคยกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกัน จึงจะถือว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาหรือละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์หาได้ไม่ การบอกกล่าวเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบและยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินมัดจำและเบี้ยปรับจากจำเลยได้ตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง แต่ก่อนศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2538 จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อขายให้แก่นายจำลอง กอเสรีกุล อันถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องคืนเงินมัดจำดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2538 เป็นต้นไปซึ่งคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,843.75 บาท และค่าปรับซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 256,843.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวหรือแจ้งกำหนดวันนัดให้จำเลยไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายและโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยต้องการเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย ค่าปรับที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าได้บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินมัดจำกับเบี้ยปรับจากจำเลยอ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อขาย ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ โดยศาลยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ประเด็นที่วินิจฉัยในคดีก่อนจึงมีว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วหรือไม่ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีก่อนจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้กับคดีก่อนจึงอาศัยเหตุต่างกัน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาให้แก่บุคคลภายนอกยังถือไม่ได้ว่าทำให้การชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการพ้นวิสัยเพราะโจทก์ยังสามารถดำเนินการตามกฎหมายให้ที่พิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ เห็นว่า การที่จำเลยโอนที่ดินที่จะซื้อขายให้บุคคลอื่นเห็นได้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นฝ่ายตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา และเมื่อจำเลยโอนที่ดินให้บุคคลอื่นไปแล้วจำเลยย่อมไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์ได้อีก การชำระหนี้จึงตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ การที่โจทก์จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายให้ที่พิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้หรือไม่อย่างไรนั้น จึงเป็นคนละกรณีกับการชำระหนี้ซึ่งตกเป็นพ้นวิสัย ทั้งการที่โจทก์ฟ้องคดีเท่ากับเป็นการเลิกสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 ในตัวอยู่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share