คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกระทำผิดฐานพยายามชิงทรัพย์โดยใช้ผ้าชุบน้ำยาอีเทอร์ปิดจมูกผู้เสียหาย เพื่อทำให้ผู้เสียหายหมดสติ และผลักผู้เสียหายกระแทกถูกผนังห้องน้ำจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บท้ายทอยบวม โดยประสงค์จะเอานาฬิกาข้อมือ 1 เรือนและสร้อยข้อมือทองคำหนัก 1 สลึงของผู้เสียหายที่ใส่ติดตัวอยู่ไป แต่มีผู้มาช่วยเหลือ จำเลยจึงเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปไม่ได้ ดังนี้ แม้พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยจะร้ายแรง แต่ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง19 ปี ไม่ปรากฏประวัติและความประพฤติที่เสียหาย คงได้ความเพียงว่าจำเลยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียน จนสถานศึกษาที่จำเลยศึกษาอยู่ให้จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี จึงเหมาะสมแก่รูปคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลย 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุก 8 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอัยการสูงสุด (อธิบดีกรมอัยการ) รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายนางสาวพันธุ์ทิพย์พุ่มเข็ม ผู้เสียหาย โดยใช้ผ้าชุบน้ำยาอีเทอร์ปิดจมูกผู้เสียหายเพื่อทำให้ผู้เสียหายหมดสติ และผลักผู้เสียหายกระแทกถูกผนังห้องน้ำจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บท้ายทอยบวม โดยประสงค์จะเอานาฬิกาข้อมือ1 เรือน ราคา 100 บาท และสร้อยข้อมือทองคำหนัก 1 สลึง ราคา 1,200บาทของผู้เสียหายที่ใส่ติดตัวอยู่ไป แต่จำเลยกระทำไปไม่ตลอดเนื่องจากผู้เสียหายต่อสู้ขัดขวางและส่งเสียงร้องจนมีผู้มาช่วยเหลือจำเลยจึงเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 80 ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยสมควรลงโทษจำคุกจำเลยสถานหนักตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้ว คงจำคุก 6 ปี แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยหนักเกินไป พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย 8 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปีศาลฎีกาได้พิเคราะห์อายุ ประวัติความประพฤติ ตลอดจนความรับผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับตัวจำเลยแล้ว ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง 19 ปี ไม่ปรากฏประวัติและมีความประพฤติที่เสียหายมาก่อนคงได้ความเพียงว่าจำเลยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนจนทางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ซึ่งจำเลยศึกษาเล่าเรียนอยู่ให้จำเลยออกพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาไปเท่านั้น ประกอบกับจำเลยก็ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน แม้พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยจะร้ายแรง แต่อาจเกิดจากการขาดความรับผิดชอบในตัวเองเพราะอายุยังน้อยอยู่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share