คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความในพินัยกรรมที่ว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตายให้บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปในภายหน้าตก เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ระบุชื่อ ในพินัยกรรม แต่ปรากฏว่าผู้ที่มีชื่อระบุให้ได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็มีแต่โจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่นนี้ย่อมหมายความว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตก เป็นของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 321แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน หากโอนไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 321 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นของนายพิศ อ่วมบุญช่วย แต่สิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่บนที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่น นายพิศไม่มีภริยาและบุตร นายพิศถึงแก่ความตายเมื่อวันที่31 สิงหาคม 2517 ขณะถึงแก่ความตาย บิดามารดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว คงมีแต่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 4 คน คือนายผ่อง อ่วมบุญช่วย นายเพ่ง พุ่งกันภัย นายปุ๋ย อ่วมบุญช่วย(จำเลย) และนางกระแสร์ สุดลาภา (จำเลยร่วม) เมื่อนายพิศถึงแก่ความตาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 321 จึงตกเป็นของนายผ่อง นายเพ่งนายปุ๋ย และนางกระแสร์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสำหรับที่ดินส่วนที่ตกมาเป็นของนายผ่องนั้น เป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างสมรสของนายผ่องกับนางล้อม โดยนายผ่องได้นางล้อมเป็นภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต่อมานายผ่องได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2517 ที่ดินโฉนดเลขที่ 321 ซึ่งนายผ่องได้รับมรดกของนายพิศมา 1 ใน 4 ส่วนนั้น จึงแบ่งเป็นของนางล้อม1 ใน 3 ส่วน และเป็นมรดกของนายผ่อง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนที่เป็นมรดกของนายผ่องนี้ตกได้แก่นางล้อมจึงเป็นภริยาครึ่งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับ1 ใน 3 ส่วนของที่ดินที่นายผ่องได้รับมา จึงรวมเป็นส่วนของนางล้อม2 ใน 3 ส่วน หรือเท่ากับ 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินทั้งหมด ต่อมานางล้อมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2518 ก่อนถึงแก่ความตายนางล้อมได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ ดังปรากฏตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาวินิจฉัยมีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 321 จำนวน 1 ใน 6 ส่วน ซึ่งเป็นของนางล้อมนั้นตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมหรือไม่
พินัยกรรมที่นางล้อมยกทรัพย์ให้แก่โจทก์นั้น มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้ คือ ข้อ 1 เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปในภายหน้า ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 2.ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 11197… ตั้งอยู่ตำบลวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับสิ่งปลูกสร้าง ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นางสุนันทา อรรถกฤษณ์ (โจทก์) แต่ผู้เดียว ข้อ 3. ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้นางสุนันทา อรรถกฤษณ์ เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมฉบับนี้ และให้เป็นผู้จัดการศพของข้าพเจ้าด้วย เห็นว่าตามพินัยกรรมฉบับนี้ นางล้อมได้ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ผู้เดียวรวมทั้งให้มีหน้าที่จัดการมรดกและจัดการศพด้วย มิได้ให้ผู้ใดมีส่วนได้รับมรดกเลย จากข้อความในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตายให้บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปในภายหน้าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ระบุชื่อในพินัยกรรม และผู้ที่ระบุชื่อให้ได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็มีแต่โจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้น ฉะนั้น ตามข้อความในพินัยกรรม ข้อ 1 นั้นย่อมหมายความว่าเมื่อนางล้อมถึงแก่ความตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตกเป็นของโจทก์ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียวรวมทั้งทรัพย์สินตามที่ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรม ข้อ 2 นั้นด้วยดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 321 จำนวน 1 ใน 6 ส่วน ซึ่งเป็นของนางล้อมจึงตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่พิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าตามพินัยกรรมเอกสารหมายจ. 1 นั้น นางล้อมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 11197 ให้โจทก์เท่านั้นไม่มีผลทำให้ที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 321 ตกเป็นของโจทก์ด้วยซึ่งในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นเพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ฉะนั้นประเด็นเรื่องอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ และเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกอายุความขึ้นอ้างหรือโต้แย้งในชั้นฎีกาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีส่วนได้รับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 321 เป็นจำนวน 1 ใน 6 ส่วนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนโดยให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกาจำเลยได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ก็ไม่อาจนำที่ดินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งกันตามส่วนตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้นั้นได้
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 321 มีราคาเท่าใด และหากจำเลยไม่สามารถโอนให้โจทก์1 ใน 6 ส่วนตามที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีสิทธิได้รับ จำเลยจะต้องใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด แม้โจทก์จะตีราคาที่ดินแปลงนี้รวมกันมากับสิ่งปลูกสร้างซึ่งฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ใช่มรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับว่า ราคาประมาณ3,000,000 บาท และจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาเพียง1,500,000 บาทเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา จำเลยได้โอนที่ดินแปลงนี้แบบไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้ผู้อื่นไปในราคา 4,000,000 บาท จึงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 321 มีราคาไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท ส่วนการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 321ให้แก่โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน ซึ่งมากกว่าที่โจทก์มีสิทธินั้นก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยอันเกิดจากการพิมพ์ผิดมากกว่าที่จะมีเจตนาเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะนอกจากราคาที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้แก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถโอนให้โจทก์ได้จะตรงกับราคาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องคือ 5,000,000บาทแล้ว ยังเห็นได้จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ยืนยันว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 321เท่านั้น ฉะนั้น หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 321 ให้แก่โจทก์ได้ 1 ใน 6 ส่วนตามที่โจทก์มีสิทธิ และที่ดินแปลงนี้ราคา3,000,000 บาท จำเลยก็ต้องใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาทตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 321แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วม 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินทั้งหมด หากจำเลยไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share