แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่โจทก์ให้ ร. บุตรชายแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเอง ต่อมา ร. ถึงแก่ความตายหลังจากนั้นจำเลยซึ่งเป็นภริยาของ ร. ไปแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ต่อผู้ใหญ่บ้านว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอันเป็นความเท็จ ต่อมาโจทก์และบุตรชายนำคนงานไปตัดอ้อยในที่ดินพิพาท จำเลยกับบริวารเข้าขัดขวาง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ส่วนจำเลยให้การว่าเมื่อต้นปี 2534 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคา 220,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท เห็นได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่าเดิมโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่ ร. แต่จำเลยให้การว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้มีว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์มอบที่ดินพิพาทให้แก่ ร. ครอบครองในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ร. นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ภ.บ.ท.5 เลขที่สำรวจที่ 137/2545 หมู่ที่ 12 (146/2537 หมู่ที่ 5) ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทและต้นอ้อยอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาทแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นบิดาของนายรัตนศักดิ์ สามีจำเลย ที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิมีเนื้อที่ 64 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา อยู่หมู่ที่ 12 ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2533 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายวุ้นเสียด ในราคา 200,000 บาท นายรัตนศักดิ์เป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทนับแต่ปี 2537 ในนามของตนเองจนกระทั่งนายรัตนศักดิ์ถึงแก่ความตาย ตาม ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.3 และ ล.2 นายรัตนศักดิ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 ระหว่างที่นายรัตนศักดิ์มีชีวิตอยู่ นายรัตนศักดิ์กับโจทก์และครอบครัวร่วมกันปลูกต้นอ้อยในที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2543 เจ้าพนักงานได้แก้ไขชื่อผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจากชื่อนายรัตนศักดิ์เป็นชื่อจำเลย ตาม ภ.บ.ท.5 ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2544 ถึงปี 2548 ตามใบเสร็จรับเงิน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อพลอยกล่าวหาว่า นายเกียรติศักดิ์ และนายเจริญ บุตรโจทก์ ซึ่งเป็นน้องนายรัตนศักดิ์เข้าไปตัดอ้อยในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 นายเกียรติศักดิ์กับจำเลยตกลงกันว่าให้แบ่งอ้อยในที่ดินพิพาท เนื้อที่ 40 ไร่ ให้แก่นายเกียรติศักดิ์ ส่วนอ้อยที่เหลือ 24 ไร่ 3 งาน ให้แก่จำเลย วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยแจ้งความต่อพันตำรวจโทภัคธร กล่าวหาว่าโจทก์กับบุตรอีก 3 คน ร่วมกันลักทรัพย์โดยตัดต้นอ้อยของจำเลยในที่ดินพิพาท พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์และบุตร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายรัตนศักดิ์ เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงประเด็นข้อพิพาท จึงมิชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่โจทก์ให้นายรัตนศักดิ์บุตรชายแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเอง ต่อมานายรัตนศักดิ์ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยซึ่งเป็นภริยาของนายรัตนศักดิ์ไปแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ต่อผู้ใหญ่บ้านว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท อันเป็นความเท็จ ต่อมาโจทก์และบุตรชายนำคนงานไปตัดอ้อยในที่ดินพิพาท จำเลยกับบริวารเข้าขัดขวาง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ส่วนจำเลยให้การว่าเมื่อต้นปี 2534 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคา 220,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลตลอดมาจนถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท เห็นได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่าเดิมโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่นายรัตนศักดิ์ แต่จำเลยให้การว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้มีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์มอบที่ดินพิพาทให้แก่นายรัตนศักดิ์ครอบครองในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายรัตนศักดิ์นั้น เห็นว่า เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายวุ้นเสียด ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2533 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายวุ้นเสียดในราคา 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย โจทก์และบุตรทุกคนร่วมกันปลูกต้นอ้อยในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์มีที่ดินหลายแปลงเนื้อที่เกินกว่า 100 ไร่ และโจทก์ทราบข่าวมาว่าทางราชการไม่ให้ประชาชนครอบครองที่ดินเกินกว่า 100 ไร่ โจทก์จึงให้นายรัตนศักดิ์บุตรคนแรกมีชื่อใน ภ.บ.ท.5 แทนโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 นายรัตนศักดิ์ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่พิพาทใน ภ.บ.ท.5 จากชื่อนายรัตนศักดิ์เป็นชื่อจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า เมื่อปี 2534 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคา 220,000 บาท โดยมิได้ทำหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือเพราะเห็นว่าเป็นญาติกัน จำเลยใส่ชื่อนายรัตนศักดิ์เป็นผู้ครอบครองใน ภ.บ.ท.5 หลังจากนายรัตนศักดิ์ถึงแก่ความตายจำเลยจึงขอเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก็ไม่ได้คัดค้าน เห็นว่า โจทก์มีบุคคลซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทได้แก่นายทองหล่อ นายเซียง นางสมปอง นายละมูล นายอุดม และนายรุ่ง มาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์กับบุตรทุกคนรวมทั้งนายรัตนศักดิ์ต่างร่วมกันปลูกต้นอ้อยในที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นของโจทก์เพื่อส่งโรงงานน้ำตาลโดยทำกันในลักษณะครอบครัวหรือกงสี ซึ่งจะต้องส่งรายได้สุทธิจากการทำไร่อ้อยให้แก่โจทก์ พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้นายก้องพิงค์ นางละออ และนายสมชัย พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านในทำนองเดียวกันว่า โจทก์กับครอบครัวทำไร่อ้อยในที่ดินพิพาทในลักษณะกงสีอันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์นั้น เห็นว่า คงมีแต่ตัวจำเลยเท่านั้นที่เบิกความเป็นพยานในเรื่องนี้โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ในคดีที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์กับบุตรร่วมกันลักทรัพย์โดยตัดต้นอ้อยในที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อพันตำรวจโทภัคธร พนักงานสอบสวนว่า จำเลยได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาจากนายรัตนศักดิ์ นอกจากนี้หากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์จริงแล้ว จำเลยก็น่าจะใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทใน ภ.บ.ท.5 โดยไม่จำต้องใส่ชื่อนายรัตนศักดิ์แทนชื่อจำเลย พยานหลักฐานจำเลยจึงมีข้อพิรุธไม่สมเหตุสมผล ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย และฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท