แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย และสั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในวันที่ 21 มกราคม 2528 หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ พนักงานเดินหมายไปส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2528 ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยยื่นคำแถลงว่าได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์แล้วแต่ส่งให้ไม่ได้ขอให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ใหม่ ซึ่งแสดงว่าจำเลยได้ทราบผลการส่งสำเนาอุทธรณ์นั้นแล้ว การที่จำเลยไม่แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246กรณีเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายในวันที่ 21 มกราคม 2528 หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน7 วัน ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2528 พนักงานเดินหมายรายงานว่าส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้รอฟังโจทก์แถลง (ที่ถูกน่าจะเป็นรอฟังจำเลยแถลง) ครั้นวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยแถลงขอให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ใหม่ศาลชั้นต้นสั่งว่าถือว่าจำเลยทิ้งอุทธรณ์ ให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทิ้งอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ‘รับอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยนำส่งภายในวันที่ 21 มกราคม 2528 หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้’ ซึ่งถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นแล้วและตามรายงานการเดินหมายได้ความว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้ทนายโจทก์ในวันที่ 23 มกราคม 2528 แต่ส่งให้ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่า ได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์แล้ว แต่ส่งให้ไม่ได้ ขอให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ใหม่ เห็นตาม ตามคำแถลงของจำเลยลงวันที่4 กุมภาพันธ์ 2528 ระบุแจ้งชัดว่า ทนายจำเลยได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ แต่ส่งให้ไม่ได้ แสดงว่าจำเลยได้ทราบผลการส่งสำเนาอุทธรณ์นั้นแล้ว กรณีหาจำต้องแจ้งผลการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทราบอีกดังที่จำเลยฎีกาไม่ การที่จำเลยไม่แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา174 (2) ประกอบมาตรา 246 จึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.