คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 409-410/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งครูใหญ่ มีหน้าที่ออกใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ แม้แบบพิมพ์ใบสุทธิจะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็เพียงเพื่อออกเป็นใบสุทธิให้แก่นักเรียนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ออกตามระเบียบ ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงต่อความจริง และผิดระเบียบ ก็เป็นเรื่องผิดหน้าที่ในการใช้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการรักษาตามความมุ่งหมายของมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 ตอนแรก กับมาตรา 162 ไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องเป็นการกระทำโดยทุจริต ฉะนั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานออกใบสุทธิโดยจดเปลี่ยนแปลงข้อความไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบเพื่อให้พลทหารเอก พลทหารเบ็ญนำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น ก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ราชการทหารในตัว ครบองค์ความผิดตามมาตรา 157 ตอนแรก และมาตรา 162(3) เป็นความผิดตามบทกฎหมายสองมาตราดังกล่าว และให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก
สำหรับจำเลยที่ 2 (เป็นครูน้อย โจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว) ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 เพียงผู้สนับสนุน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น(จำคุกไม่เกิน 5 ปี ) นั้น การที่ศาลจะรอการลงโทษจำเลยหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดุลพินิจ โจทก์ฎีกาโต้แย้งข้อนี้ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218.
(ปัญหาที่ 2 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 19-20/2508).

ย่อยาว

คดี ๒ เรื่องนี้ จำเลยเป็นคน ๆ เดียวกัน ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องเป็นใจความเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งครูใหญ่ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ออกใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ ๒ เป็นครูน้อย ได้บังอาจร่วมกันทำใบสุทธิอันเป็นเอกสารราชการ และเป็นเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ โดยนำความที่รู้ว่าเป็นเท็จจดกรอกลงในแบบพิมพ์ใบสุทธิอันเป็นทรัพย์สินของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ตามหน้าที่ ให้แก่พลทหารเอกในสำนวนที่ ๑ พลทหารเบ็ญในสำนวนที่ ๒ แสดงว่าพลทหารทั้งสองเรียนจบหลักสูตรชั้นประถมปีที่ ๔ เพื่อให้นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาบำเหน็จความชอบให้ เป็นการมิชอบและทุจริตโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ทำและรักษาเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นความจริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บังคับบัญชาของพลทหารทั้ง ๒ รวมทั้งสาธารณชนและทางราชการแห่งรัฐ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๑,๑๕๗ ๑๖๒, ๘๓,๘๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้ง ๒ ผิดมาตรา ๑๕๗,๑๖๒ เฉพาะจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ ลดโทษตามมาตรา ๗๘ สำหรับจำเลยที่ ๑ ให้ ๑ ใน ๓ จำคุก ๒ ปี ลดโทษสำหรับจำเลยที่ ๒ กึ่งหนึ่ง จำคุก ๑ ปี รอการลงโทษในกำหนด ๓ ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา ๑๕๑ ด้วย และไม่ควรรอการลงโทษ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยทุจริต ไม่มีความผิด หากผิดก็ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยที่ ๑ ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจะเป็นผิดตามมาตรา ๑๕๑ ด้วยหรือไม่ และความผิดตามมาตรา ๑๕๗ กับ ๑๖๒ ต้องประกอบด้วยเจตนาทุจริตหรือไม่
ปัญหาตามมาตรา ๑๕๑ วินิจฉัยว่า แม้แบบพิมพ์ใบสุทธินี้จะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม ก็เพียงเพื่อออกเป็นใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียน ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบสุทธินี้ตามระเบียบ ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบก็เป็นเรื่องผิดหน้าที่ในการใช้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการรักษาตามความมุ่งหมายของมาตรานี้ จำเลยที่ ๒ ผู้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ ๑ จึงยังไม่มีความผิดตามมาตรานี้ด้วย
ปัญหาตามมาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ นั้น พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า มาตรา ๑๕๗ ตอนแรกกับมาตรา ๑๖๒ ไม่มีบัญญัติว่าจะต้องเป็นการกระทำโดยทุจริตด้วย ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานออกใบสุทธิในหน้าที่โดยจดเปลี่ยนแปลงข้อความไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบเพื่อให้พลทหารเอกพลทหารเบ็ญนำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น ก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ราชการทหารในตัว ครบองค์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗ ตอนแรก และมาตรา ๑๖๒ (๓) แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทกฎหมายสองมาตราดังกล่าว แต่การกระทำของจำเลยกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามมาตรา ๙๐ ให้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่าการที่ศาลจะรอการลงโทษจำเลยหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดุลยพินิจ โจทก์ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘
พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๕๗ ที่แก้ไขแล้วซึ่งเป็นบทหนัก โดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share