คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ไม่ว่าจะฟังว่าที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งหรือที่ชายตลิ่งที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตามสิทธิของโจทก์ซึ่งครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิใช้สอยดีกว่าจำเลย แต่จะใช้ยันต่อรัฐได้หรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1427 ตำบลปัวอำเภอปัว จังหวัดน่าน ต่อมาได้เกิดที่งอกริมตลิ่งของที่ดินดังกล่าวซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำปัว โจทก์ได้ทำประโยชน์ในที่งอกทุกปีติดต่อกันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2529 จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดได้ร่วมกันบุกรุกเข้ามาปลูกพืชในที่งอกและที่ชายตลิ่งข้างต้น การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ และขาดประโยชน์อันควรได้จากที่ดินคิดเป็นเงินเดือนละ 500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามสิบเจ็ดออกไปจากที่งอกและที่ชายตลิ่งด้านหน้าแนวที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ที่ติดกับแม่น้ำปัวและห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดรื้อถอนรั้วและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย นับแต่วันบุกรุกถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,000 บาท กับอีกเดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามสิบเจ็ดจะออกไปจากที่ดินข้างต้น
จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งดังโจทก์ฟ้อง หากแต่เป็นของจำเลยที่ 3 ที่ 8ที่ 9 ที่ 19 ที่ 25 ที่ 32 ที่ 33 ที่ 34 และที่ 36 ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเกินกว่า 15 ปี จำเลยอื่นไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเพียงแต่ขออาศัยปลูกยาสูบเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันบุกรุก (บุกรุกวันที่ 7 ตุลาคม 2529) เดือนละ 200 บาทเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดฎีกาต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนจำเลย โจทก์ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปถือครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอำนาจจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่ดิน เห็นว่า ที่ดินพิพาทนี้นายสมพงษ์สอนเพ็ง เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอปัวเบิกความว่าเป็นที่ดินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำปัวเปลี่ยนทางเดินแต่ก็ได้ทราบจากราษฎรที่เกี่ยวข้องว่าน้ำท่วมถึงทุกปี สภาพของที่ดินพิพาทในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็นที่งอกริมตลิ่งก็ดีหรือถือได้ว่าเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงตามปกติและเป็นที่พลเมืองใช้ร่วมกัน อันมีผลว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ก็ดี สิทธิของโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่จะใช้ยันต่อรัฐเป็นประการใดเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามสิบเจ็ดโจทก์ซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสามสิบเจ็ด และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามสิบเจ็ดซึ่งเข้ามาล้อมรั้วในที่ดินพิพาทได้…”
พิพากษายืน.

Share