คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และฐานพาอาวุธปืนของจำเลยซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 4 คนร่วมกันมีอาวุธปืนเล็กยาวแบบเอ็ม 16 ขนาด 5.56 มม. จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนคาร์บินแบบปสบ.87 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. และกระสุนปืนคาร์บินขนาด .87 จำนวนหลายนัด ซึ่งเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง และจำเลยกับพวกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายประทิ่นหรือทิ่น บุญรอด ถึงแก่ความตาย ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานยึดได้ปลอกกระสุนปืน เอ็ม 16 ขนาด 5.56 จำนวน3 ปลอก ปลอกกระสุนปืน ปสบ.87 จำนวน 1 ปลอกที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 91, 83พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา8 ทวิ, 55, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,55, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 และลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุก 6 ปีฐานพาอาวุธปืนติดตัวไป จำคุก 1 ปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในกระทงความผิดอื่นมารวมได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เมื่อรวมกับโทษจำคุกกระทงอื่นแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอฟังลงโทษจำเลยได้ และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ปลอกกระสุนปืนของกลางเป็นของที่มีไว้ผิดต่อกฎหมายจึงให้ริบ

Share