คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินฝากในบัญชีธนาคารตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้ศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น แม้ทรัพย์สินรายการนี้ ศาลจะได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน แต่ศาลก็ยังต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสี่สำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านทั้งหกในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ตามลำดับ เรียกผู้คัดค้านทั้งสามในสำนวนที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ตามลำดับ และเรียกผู้คัดค้านในสำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้ร้องทั้งสี่สำนวนยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 55 รายการดังกล่าว พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 และ 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศโฆษณาแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านทั้งหก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนเงิน 717,420.47 บาท ในบัญชีเงินฝากธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X และดอกผลนับแต่วันอายัดให้แก่เด็กชายโยธิน คืนสร้อยข้อมือทองคำ 2 เส้น น้ำหนัก 3 บาทและกำไลข้อมือทองคำ 5 วง น้ำหนักวงละ 1 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงิน 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X และดอกผลนับแต่วันอายัดให้แก่เด็กชายโยธิน ให้สร้อยข้อมือทองคำ 2 เส้น น้ำหนัก 3 บาทและกำไลข้อมือทองคำ 5 วง น้ำหนักวงละ 1 บาท ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลทุกสำนวนให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นางสมส่วน เป็นภริยานายไพโรจน์ ซึ่งเป็นพี่ชายผู้คัดค้านที่ 1 นางสมส่วนถูกฟ้องคดีอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟย.4/2549 ของศาลอาญา ในความผิดฐานฟอกเงิน นางสมส่วนให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นางสมส่วนจึงเป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนางสมส่วนนั้น เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนางสมส่วนตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา แต่นางสมส่วนก็มีความสัมพันธ์เป็นพี่สะใภ้ของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องมีนางชลธิชา เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2546 พยานสืบสวนสอบสวนคดีที่นางสมส่วนถูกดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และนางสมส่วนให้การตามบันทึกคำให้การว่า ปี 2539 นางสมส่วนได้รับยาเสพติดจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นน้องของสามี ในราคาถุงละ 8,500 บาท แล้วนำไปขายต่อให้แก่เพื่อนบ้านและเด็กๆ ในชุมชน ได้กำไรถุงละ 1,000 บาท และนางสาวไพรินทร์ บุตรนางสมส่วนให้การตามบันทึกคำให้การว่า นางสาวไพรินทร์ เป็นผู้รับยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีน และเฮโรอีน จากผู้คัดค้านที่ 1 โดยรับเมทแอมเฟตามีน มาในราคา 90,000 บาท แล้วขายไปในราคา 110,000 บาท ได้กำไรมัดละ 20,000 บาท รับมาครั้งละ 4 มัด ส่วนผงขาวนางไพรินทร์ก็รับจากผู้คัดค้านที่ 1 เช่นกัน บรรจุเป็นห่อแต่ละห่อมี 4 หลอด ขนาดของหลอดจะเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีของกักตุนไว้ขายแก่ลูกค้าโดยตลอด แม้เหตุการณ์ตามที่นางชลธิชาเบิกความเป็นเรื่องที่รับฟังการบอกเล่ามาจากนางสมส่วนและนางสาวไพรินทร์ แต่ก็ไม่มีข้อให้ระแวงว่านางสมส่วนและนางสาวไพรินทร์ให้การเพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนพยานผู้คัดค้านที่ 1 คงอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว เบิกความเกี่ยวกับรายได้และการประกอบอาชีพ แต่ไม่นำพยานอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนางสมส่วนและนางสาวไพรินทร์มาเบิกความโต้แย้งเกี่ยวกับคำให้การของนางสมส่วนและนางสาวไพรินทร์ พยานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานผู้คัดค้านที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนางสมส่วน ผู้กระทำความผิดมูลฐานฐานฟอกเงิน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีภาระในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องมีที่ดินรวม 11 แปลง คือ (1) ที่ดินโฉนดเลขที่ 44833 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ราคา 2,000,750 บาท (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 236832 อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 700,000 บาท (3) ที่ดินโฉนดเลขที่ 27850 อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ราคา 400,000 บาท (4) ที่ดินโฉนดเลขที่ 222145 อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 800,000 บาท (5) ห้องชุดเลขที่ 17/941 อาคารชุดวังหินคอนโดมิเนียม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ราคา 606,900 บาท (6) ที่ดินโฉนดเลขที่ 93274 อำเภอห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 2,944,000 บาท (7) ที่ดินโฉนดเลขที่ 41832 อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ราคา 480,000 บาท (8) ที่ดินโฉนดเลขที่ 23260 อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 2,000,000 บาท (9) ที่ดินโฉนดเลขที่ 35356 อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราคา 1,500,000 บาท (10) ที่ดินโฉนดเลขที่ 35357 อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราคา 1,500,000 บาท (11) ที่ดินโฉนดเลขที่ 35358 อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราคา 1,500,000 บาท ทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารต่างๆ รวม 12 บัญชี ทรัพย์สินที่เป็นสร้อยคอทองคำ นาฬิกาข้อมือทองคำ และแหวนทองคำ สลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาล รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 30 ล้านบาทเศษซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนวนมาก
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหกว่า ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านทั้งหกได้มาก่อนที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ ไม่สามารถใช้บังคับกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ ในทำนองว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่มีผลย้อนหลังถึงการกระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ เห็นว่า การให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นมาตรการทางแพ่งเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมมิใช่โทษทางอาญา บทบัญญัติในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงสามารถใช้บังคับกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหกฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับทรัพย์สิน เงินฝาก 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X และดอกผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนแก่เด็กชายโยธินนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและนำสืบว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมปองแล้ว ได้จัดการทรัพย์มรดกของนายสมปองโดยการปิดบัญชีเงินฝากของนายสมปองที่ธนาคารศรีนคร จำกัด และธนาคารออมสินแล้วนำเงินดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการรับจำนองที่ดิน 1 แปลง รวมไปเปิดบัญชีให้แก่เด็กชายโยธิน แต่ปรากฏว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวมีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 บัญญัติให้ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเองเป็นเจ้าของ จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานผู้คัดค้านที่ 2 เองว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นบัญชีเงินฝาก และทรัพย์ดังกล่าวก็มิใช่ทรัพย์มรดกของนายสมปองแล้ว เพราะอ้างว่าได้จัดการทรัพย์มรดกให้แก่เด็กชายโยธินแล้ว เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมปอง ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินเงินฝาก 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X และไม่มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของบุคคลอื่นได้ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการยื่นคำร้องคัดค้านเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้ร้องไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน ที่ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยให้และพิพากษาให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เด็กชายโยธินจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินฝาก 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้ศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น แม้ทรัพย์สินรายการนี้ ศาลจะได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน แต่ศาลก็ยังคงต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ เมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอีก สำหรับทรัพย์สินรายการนี้ คือ เงินฝาก 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง เลขที่ 00-0029-20-109XXX-X ชื่อบัญชี นางไพรัช เพื่อเด็กชายโยธิน นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่าเงินในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมปอง บิดาเด็กชายโยธินถอนจากบัญชีของนายสมปองที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน มาฝากไว้ให้แก่เด็กชายโยธิน รวมกับเงินที่ได้รับจากการจำนองที่ดิน 1 แปลง เมื่อศาลฎีกาตรวจสอบบัญชีธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) บัญชีเลขที่ 017-2-25XXX-X และบัญชีธนาคารออมสิน เลขที่ 00-0029-063XXX-X ชื่อบัญชีนายสมปอง ที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างส่ง นั้น ระบุว่า ณ วันที่ 15 กันยายน 2542 นายสมปองมีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 584,867.73 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีรายการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว เช่นเดียวกับบัญชีธนาคารออมสินของนายสมปอง ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2542 มีเงินอยู่ในบัญชี จำนวน 74,917.93 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีรายการถอนเงินจากบัญชีตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างแต่อย่างใด ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 หากจะจัดการทรัพย์มรดกให้แก่เด็กชายโยธิน ไม่น่าจะต้องรอเวลานานถึง 2 ปี จึงถอนเงินมาเปิดบัญชีให้แก่เด็กชายโยธิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือญาติของผู้คัดค้านที่ 2 ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรณีจึงเชื่อได้ว่าเงินจำนวน 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X ชื่อบัญชี นางไพรัช เพื่อเด็กชายโยธิน เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงิน 717,123.20 บาท ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาห้วยขวาง บัญชีเลขที่ 00-0029-20-109XXX-X ลำดับที่ 21 และดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทุกสำนวนให้เป็นพับ

Share