คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3139/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เป็นครูในโรงเรียนของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ และไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยอ้างว่าโจทก์ได้หยุดแล้วในตอนปิดเทอมภาคการศึกษา ดังนี้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ10 ระบุให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายจ้างได้กำหนดล่วงหน้าให้วันปิดเทอมเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงจะถือเป็น วันหยุดพักผ่อนประจำปีมิได้ แม้โจทก์ได้หยุดมากกว่าปีละหกวันตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 10 ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเจ็ด ฟ้องว่าเดิมเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โดยเป็นครูในโรงเรียนของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ด อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากมีนักเรียนน้อย การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยมิได้ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดเข้า ทำงาน โดยให้ตำแหน่งหน้าที่ และอัตราค่าจ้างเดิม กับให้จ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกลับเข้าทำงาน หากไม่ยอมรับกลับเข้าทำงานขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าเสียผลประโยชน์อื่น ค่าจ้างสำหรับวันหยุด พักผ่อนประจำปีและค่าสูญเสียผลประโยชน์จากการเริ่มทำงานใหม่พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอกลับเข้าทำงาน และเรียกค่าเสียหาย จำเลยจัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีแล้วปีละประมาณ ๕๐ วัน ในตอนปิดเทอมภาคการศึกษา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นปรากฏว่าระหว่างปิดเทอม โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้หยุดพักและได้ค่าจ้างเดิมเป็นเวลาหลายสิบวัน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์อีก พิพากษายกฟ้อง
ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้ง
โจทก์ทั้งสิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๑๐ นั้น นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่กรณีนี้ ไม่ได้ความว่านายจ้างได้กำหนดล่วงหน้าให้วันปิดเทอมเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงจะถือเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีมิได้ แม้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้หยุดมากกว่าปีละหกวันตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯข้อ ๑๐ สักเท่าใดก็ตามและเมื่อจำเลยกับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดมิได้ตกลงล่วงหน้าให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นได้ ดังนั้นสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี สำหรับปีก่อน ๆ ของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่ครบหนึ่งปีที่ได้เริ่มทำงานมาคิดคำนวณด้วยหาได้ไม่ก่อนวันที่ถูกเลิกจ้าง โจทก์แต่ละคนได้ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงานโดยคิดจากค่าจ้างอัตราสุดท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share