แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จะเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นควรพิจารณาเป็นลำดับไปว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 หรือไม่ และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่นำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 และรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (1) และมาตรา 6 แล้ว ส่วนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่นั้น พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการเกษตรและได้อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จำเลยที่ 1 ไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นเอง แต่นำมาประกอบรวมเข้าด้วยกันไม่ปรากฏว่าระบบการทำงานของฐานใส่อ้อยและกล่องป้อนอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากที่วางพาดอ้อย และช่องเสียบลำอ้อยทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มปริมาณช่องป้อนต้นอ้อยให้มากขึ้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงเรื่องการปรับระยะห่างของร่องนั้น เมื่อผู้ออกแบบเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับแต่งให้ได้ระยะตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว ชุดโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จึงเป็นเพียงโครงสร้างสำหรับยึดเกาะให้แก่ชิ้นส่วนต่าง ๆ นำไปพ่วงกับรถแทรกเตอร์และมิได้มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ทั้งเป็นโครงสร้างปกติพบได้ในเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั่วไป การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 ของจำเลยทั้งสองเป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 และเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าว ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 ของจำเลยทั้งสอง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือการเกษตร ซึ่งรวมทั้งเครื่องปลูกอ้อย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2546 จำเลยทั้งสองยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อย ต่อมาผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรมีหนังสือถึงอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจค้นเอกสารสำหรับใช้ประกอบในการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามสำเนาหนังสือสำนักสิทธิบัตร ที่พณ 0706/ 1202 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2549 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์แล้วปรากฏว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำหรับการพิจารณาการประดิษฐ์ว่ามีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นหรือไม่ ได้แก่ (1) เอกสารจากเว็บไซต์ “agricoop.nic.in” ซึ่งเปิดเผยถึงชุดโครงผาลชักร่องที่ลากด้วยรถแทรกเตอร์ (2) เอกสารจากเว็บไซต์ “thehindu.com” ซึ่งเปิดเผยถึงเครื่องปลูกอ้อยที่ทำงานการลากด้วยรถแทรกเตอร์ที่สามารถตัดอ้อยเป็นท่อนๆ ด้วยขนาดที่เหมาะกับการปลูก ทำการชักร่อง โรยปุ๋ยรองพื้น กลบหน้าดิน สามารถปรับระยะห่างระหว่างร่องอ้อยได้ 83 ถึง 100 เซนติเมตร (3) เอกสารสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ 4,084,465 ซึ่งเปิดเผยถึงเครื่องปลูกอ้อยที่ทำงานด้วยการลากด้วยรถแทรกเตอร์ ที่สามารถบรรทุกต้นอ้อยได้จำนวนหนึ่ง แล้วทำการตัดอ้อยเป็นท่อน ๆ ด้วยขนาดที่เหมาะกับการปลูกแล้ว จึงลำเลียงท่อนอ้อยลงในร่องที่ขุดเตรียมไว้แล้วเพื่อทำการปลูก นายถนอมศักดิ์ พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตรมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า สาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรตามลักษณะที่ระบุในข้อถือสิทธิมีลักษณะใกล้เคียงกับเอกสารสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,084,465 และเอกสารจากเว็บไซต์ “thehindu.com” จนถือได้ว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาดังกล่าวให้ชี้แจงเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา ตามสำเนาหนังสือสำนักสิทธิบัตร ที่ พณ 0706/06 – 011107 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 มีหนังสือชี้แจงว่าการประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือเอนกประสงค์ต่อยอดจากเครื่องปลูกอ้อย พัฒนาเป็นเครื่องมืออื่น ๆ ได้อีก ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ แตกต่างจากการประดิษฐ์ตามเอกสารอ้างอิงทั้งสองฉบับในหลายประเด็น มีชิ้นส่วนที่แตกต่างกันประกอบด้วยชุดจานใบผาลหมุน (ใหญ่) ชุดจานใบผาลหมุน (เล็ก) ชุดล้อกดหน้าดิน ชุดจานล้อคัดท้ายพร้อมใบปาดดิน และชุดล้อสั่งงาน การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,084,465 เป็นเครื่องปลูกอ้อยแบบลากจูง ใช้ปลูกอ้อยได้เพียงอย่างเดียว และการประดิษฐ์ตามเอกสารจากเว็บไซต์ “thehindu.com” มีลักษณะใบแถกร่องคู่ (ลักษณะแบบใบหัวหมู) ใช้ปลูกอ้อยได้เพียงอย่างเดียว อีกทั้งเอกสารอ้างอิงดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกับที่คำขอรับสิทธิบัตรแสดงไว้ การประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม ประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น จึงถือว่ามีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามสำเนาหนังสือชี้แจงเหตุผลประกอบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร ลงวันที่ 23 มกราคม 2550 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้แก่จำเลยทั้งสอง ตามสำเนาสิทธิบัตรการประดิษฐ์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 เป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 หรือไม่ ซึ่งเห็นควรพิจารณาเป็นลำดับไปว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 หรือไม่ และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสอง งานที่ปรากฏอยู่แล้วที่โจทก์ทั้งสองอ้างอิง ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก.1480- 2540 ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และโจทก์ทั้งสองมีนางดาเรศร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และนายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย มาเบิกความเป็นพยานว่า กระบวนการยกร่างมาตรฐานอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนปี 2540 ประมาณ 1 ถึง 2 ปี เครื่องปลูกอ้อยดังกล่าวมีส่วนประกอบคือ (1) ชุดพ่วงส่วนที่ติดอุปกรณ์ (2) อุปกรณ์เปิดร่อง ได้แก่ หัวผาล ใบผาล และแผ่นกันดินเพื่อป้องกันไม่ให้ดินตกลงไปในร่อง (3) อุปกรณ์ปลูก ได้แก่ ที่วางพาดลำอ้อย ช่องเสียบลำอ้อย เครื่องตัด ล้อขับเครื่องตัด ช่องปล่อยท่อนอ้อย อุปกรณ์กวาดดินกลบท่อนพันธุ์ และล้ออัดดิน แต่เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 ประกอบด้วย ชุดฐานใส่อ้อย (1) ชุดโครงผาลชักร่อง (2) ชุดล้อขับ (3) ชุดจานผาลหมุน (4) ชุดกล่องป้อนอ้อย (7) ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) ชุดล้อกดหน้าดิน (9) และชุดถังปุ๋ย (11) เมื่อเปรียบเทียบเครื่องปลูกอ้อยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.1480 – 2540 และการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 แล้ว มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก.1480 – 2540 อุปกรณ์เปิดร่องซึ่งใช้เปิดหน้าดินให้เป็นร่องมีลักษณะแบบหัวหมู ล้อขับเครื่องตัดมีจำนวน 2 ล้อ คล้ายล้อรถไถนาแบบเดินตาม ช่องเสียบลำอ้อยมีช่องเดียว และอุปกรณ์กวาดดินกลบท่อนพันธุ์มีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กคล้ายพลั่ว แต่การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 อุปกรณ์เปิดร่องเป็นจานผาลหมุนติดตั้งบนชุดโครงผาล ล้อขับมีล้อเดียว ลักษณะเป็นแกนเพลายึดติดระหว่างกึ่งกลางเหล็กเส้นวงกลม และมีเดือยยื่นออกสลับระหว่างกึ่งกลางและขอบนอกเหล็กเส้นวงกลม ชุดกล่องป้อนอ้อยแบ่งเป็นสองช่อง และอุปกรณ์กวาดดินกลบท่อนพันธุ์มีลักษณะแบบจานผาลหมุน ดังนั้นแม้เครื่องปลูกอ้อยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.1480 – 2540 และการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จะมีหลักการทำงานคล้ายคลึงกัน แต่รูปแบบหรือรายละเอียดของการทำงาน รวมทั้งอุปกรณ์มีความแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 แตกต่างจากเครื่องปลูกอ้อยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.1480 – 2540 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบการประดิษฐ์ดังกล่าวกับงานจำนวน 3 รายการ ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ตามรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรปรากฏผลดังนี้ (1) งานตามเอกสารของเว็บไซต์ “agricoop.nic.in” เป็นชุดโครงผาลชักร่องที่ถูกลากด้วยรถแทรกเตอร์ (tractor mounted disc harrow) ซึ่งประกอบด้วยจานจำนวน 2 ชุด (two gangs of discs) จานชุดแรกด้านหน้าทำหน้าที่ชักร่องในดิน จานชุดที่ 2 ด้านหลังทำหน้าที่กลบหน้าดิน งานดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบในอันที่จะแสดงว่าเป็นเครื่องปลูกอ้อย จึงแตกต่างจากการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในเรื่องการปลูกอ้อย (2) งานตามเอกสารของเว็บไซต์ “thehindu.com” ซึ่งมีข้อความโดยสรุปว่า งานที่เครื่องปลูกอ้อย (sugarcane planter) ซึ่งลากโดยรถแทรกเตอร์ทำคือ ตัดท่อนพันธุ์ (sett cutting) เปิดร่องดิน (furrow opening) โรยปุ๋ย (fertilizer placement) และกลบท่อนพันธุ์ (covering setts) เครื่องปลูกอ้อยแบบสองแถวประกอบด้วยลูกกลิ้งที่หมุนเข้าหากันสองคู่ (two twin counter rotating rollers) อุปกรณ์ทำร่อง 2 อัน (two ridger bottoms) กล่องปุ๋ย (fertilizer box) และใบพลั่วสำหรับปิดร่องดิน (furrow closing shovels) ท่อนพันธุ์อ้อยทั้งหมดวางตั้งอยู่บนเครื่องปลูกอ้อย ใบมีดติดกับลูกกลิ้งที่หมุนเข้าหากันซึ่งขับเคลื่อนด้วยเพลาของรถแทรกเตอร์ (driven by the tracto power take off shaft) จากข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์ทำร่อง และอุปกรณ์กวาดดินกลบท่อนพันธุ์มีลักษณะเป็นจานผาลหมุน จึงมีลักษณะสำคัญที่ต่างจากการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 (3) งานตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,084,465 ซึ่งเป็นเครื่องปลูกอ้อย (sugar cane planting machine) ที่มีล้อระบบไฮดรอลิก และเชื่อมต่อกับรถแทรกเตอร์ที่ลากจูง เครื่องปลูกอ้อยดังกล่าวจะบรรทุกและขนท่อนอ้อยขนาดยาว แล้วทำการตัดให้ได้ขนาดที่จะใช้ปลูกได้ (plantable sizes) แล้วส่งลงไปยังร่องดินที่เตรียมไว้ด้านล่าง ( pre-formed furrows in the ground below) เครื่องปลูกอ้อยดังกล่าวจึงเป็นเพียงเครื่องตัดอ้อยให้เป็นท่อนแล้วลำเลียงสู่ร่องดินโดยปราศจากอุปกรณ์เปิดร่อง โรยปุ๋ย กลบท่อนอ้อย กลบปุ๋ย และกดหน้าดิน จึงแตกต่างจากการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่นำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 และรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร จึงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (1) และมาตรา 6 แล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องปลูกอ้อยของจำเลยทั้งสองเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานสรุปได้ว่า เมื่อปี 2542 เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาขาดทุนจากการทำไร่อ้อยเนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำ ต้นทุนการปลูกอ้อยสูง ได้รับผลผลิตต่อไร่น้อย ทำให้ปลูกอ้อยน้อยลง บริษัทอุตสาหกรรมอ่างเวียน จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา นำเครื่องปลูกอ้อยที่นายทุนทำการผลิตมาใช้ปลูกอ้อย เครื่องปลูกอ้อยดังกล่าวมีลักษณะ 1 ช่อง ป้อนต้นอ้อย ปลูกอ้อยแบบร่องเดี่ยว ความห่างของร่อง 120 ถึง 130 เซนติเมตร ไม่สามารถปรับความถี่ห่างของแนวร่องปลูกอ้อยได้ อ้อยเกิดเบาบาง ได้รับผลผลิตเพียง 7 ถึง 8 ตัน ต่อไร่เท่านั้น จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ จำเลยที่ 1 นำชุดโครงผาลชักร่อง ลักษณะแบบจานผาลหมุนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบประดิษฐ์มาตั้งแต่ปี 2527 ที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีใช้อยู่ก่อนแล้ว มาต่อยอดทำให้เป็นเครื่องปลูกอ้อย เครื่องปลูกอ้อยของจำเลยที่ 1 มีทั้งแบบร่องปลูกอ้อยเดี่ยวที่สามารถปรับความถี่ห่างของร่องได้ตามที่ต้องการ กับแบบร่องปลูกอ้อยคู่แยกส่วนล่างออกจากกัน ระยะความห่างประมาณ 40 เซนติเมตร สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 23 ถึง 25 ตัน ต่อไร่ เมื่อพิจารณาภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องและลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 แล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ต้องการแก้ไขปัญหาดังนี้ (1) ปลายแหลมของใบหัวหมูจะไปสะดุดรากไม้ ตอไม้ใต้ดิน ก้อนหิน หรือเหง้าอ้อยในแปลงปลูกอ้อยเดิม ทำให้ติดขัด พื้นผิวดินในแปลงปลูกอ้อยมีความชื้นสูง ดินเกาะติดส่วนด้านหน้าใบหัวหมูจนไม่สามารถเปิดหน้าดินอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้เสียเวลาทำงานเพิ่มขึ้น และสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงเพราะเครื่องปลูกอ้อยมีน้ำหนักมากในขณะทำการลาก ต่างจากการใช้ชุดจานผาลหมุน และชุดล้อขับที่ช่วยให้เบาแรงของเครื่องยนต์ในขณะทำการลาก (2) กรณีเครื่องปลูกอ้อยแบบเดิมที่ไม่สามารถปรับระยะความถี่ห่างของร่องปลูกอ้อยได้ (3) ชุดใบกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยแต่เดิมใช้เหล็กแผ่นงอโค้งลักษณะใบพลั่วปาดดินเข้าหากัน การกลบท่อนอ้อยและปุ๋ยเคมีทำได้เป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง เพราะดินเกาะติดที่ใบพลั่ว การพลิกดินไม่ดีพอ หรือสะดุดก้อนดิน ก้อนหิน หรือเหง้าอ้อยที่ยังไม่เน่าเปื่อย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ซึ่งประกอบด้วย ชุดฐานใส่อ้อย (1) ชุดโครงผาลชักร่อง (2) ชุดล้อขับ (3) ชุดจานผาลหมุน (4) ชุดกล่องป้อนอ้อย (7) ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) ชุดล้อกดหน้าดิน (9) และชุดถังปุ๋ย (11) นางดาเรศร์ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยาน สรุปได้ว่า ชุดฐานใส่อ้อย (1) มีลักษณะที่พบได้ในเครื่องปลูกอ้อยทั้งในและต่างประเทศ และในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 ชุดโครงผาลชักร่อง (2) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสากล (ISO 730) และมีการกำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่องมิติพ่วงแบบสามจุดสำหรับแทรกเตอร์แบบล้อยางเพื่อการเกษตร มอก. 983 – 2533 ชุดล้อขับ (3) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันโดยทั่วไปในการควบคุมเพลาที่ต้องการให้หมุนเฉพาะเมื่อรถแทรกเตอร์เคลื่อนที่ มักใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรประเภทเครื่องหยอดเมล็ดพืช เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องใส่สารเคมีกำจัดแมลง ชุดจานผาลหมุน (4) เป็นอุปกรณ์เปิดดินที่พบในตำราทางวิศวกรรมเกษตร ชุดกล่องป้อนอ้อย (7) มีลักษณะรูปทรงพื้นฐานที่ใช้กันมานานและมีกำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) พบในเครื่องปลูกพืชทั่วไปและตำราทางวิศวกรรมเกษตร ชุดล้อกดหน้าดิน (9) พบในตำราทางวิศวกรรมเกษตร และมีกำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 และชุดถังปุ๋ย (11) เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้กันโดยทั่วไป และพบในตำราทางวิศวกรรมเกษตร ตามรายงานผลการตรวจค้นการประดิษฐ์ “เครื่องปลูกอ้อย” ตามคำขอรับสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 086021 ลงวันที่ 23 กันยายน 2546 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการเกษตร และอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบเครื่องปลูกอ้อย มีเกษตรกรใช้เครื่องปลูกอ้อยอยู่ก่อนแล้ว แต่ได้ผลผลิตอัตราต่อไร่ต่ำ แม้จำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ออกแบบประดิษฐ์ชุดโครงผาลชักร่อง ลักษณะแบบจานผาลหมุนมาตั้งแต่ปี 2527 แต่ก็ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จำเลยที่ 1 ไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่างๆขึ้นเอง แต่นำมาประกอบรวมเข้าด้วยกัน กรณีต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่จำเลยที่ 1 นำชุดฐานใส่อ้อย (1) ชุดโครงผาลชักร่อง (2) ชุดล้อขับ (3) ชุดจานผาลหมุน (4) ชุดกล่องป้อนอ้อย (7) ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) ชุดล้อกดหน้าดิน (9) และชุดถังปุ๋ย (11) มาใช้กับเครื่องปลูกอ้อย ทำให้การประดิษฐ์ของจำเลยที่ 1 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นหรือไม่ โดยเห็นควรแยกพิจารณาอุปกรณ์แต่ละส่วนดังนี้ (ก) ชุดฐานใส่อ้อย (1) และชุดกล่องป้อนอ้อย (7) ตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุเกี่ยวกับชุดฐานใส่อ้อยว่า มีลักษณะโครงรูปสี่เหลี่ยม ด้านหลังข้างขวาหักมุม 90 องศา ด้านล่างของชุดฐานใส่อ้อยเชื่อมติดขอบฐานโดยเหล็กฉาก ขอบฐานด้านนอกเชื่อมติดโดยรอบด้วยเหล็กแบน พื้นของชุดฐานใส่อ้อยใช้เหล็กแบนเชื่อมติดพร้อมคั่นเป็นช่องๆ ด้วยเหล็กแบน และระบุเกี่ยวกับชุดกล่องป้อนอ้อยว่า มีลักษณะส่วนด้านบนทรงสี่เหลี่ยม ส่วนด้านล่างทรงพีระมิด ประกอบด้วยฝาปิดที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม เจาะรูขอบมุมทั้งสี่ด้านยึดด้วยนอตบริเวณกึ่งกลาง ยกฐานสูงขึ้นแบ่งเป็นช่องสองช่อง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เบิกความทำนองว่า กรณีปลูกแบบร่องเดียว มีช่องป้อนต้นอ้อยจำนวน 2 ช่อง กรณีปลูกแบบร่องคู่ มีช่องป้อนต้นอ้อยจำนวน 4 ช่อง แยกส่วนล่างออกจากกัน ระยะความห่างประมาณ 40 เซนติเมตรซึ่งเรื่องระยะความห่างนี้ จำเลยที่ 1 เบิกความด้วยว่า ได้ศึกษาวิธีการปลูกอ้อยพบว่า ความห่างของร่องประมาณ 41 เซนติเมตร ต้นอ้อยงอกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน เจริญเติบโตได้ดี ได้รับผลผลิตมากที่สุด เห็นว่า ชุดฐานใส่อ้อยและชุดกล่องป้อนอ้อยมีลักษณะเช่นเดียวกับ ที่วางพาดลำอ้อย และช่องเสียบลำอ้อย ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก.1480 – 2540 และตามเอกสารจากเว็บไซต์ thehindu.com แนบท้ายรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบ การพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร แสดงภาพการป้อนอ้อยในแนวตั้ง และมีข้อความว่า ผู้ปฏิบัติงานสองคนซึ่งนั่งบนเก้าอี้ที่อยู่บนโครงของเครื่องปลูกอ้อย ป้อนอ้อยทั้งหมดผ่านช่องนำอ้อยสู่ด้านล่าง (chutes) ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าระบบการทำงานของฐานใส่อ้อยและกล่องป้อนอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากที่วางพาดอ้อย และช่องเสียบลำอ้อยทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มปริมาณช่องป้อนต้นอ้อยให้มากขึ้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร (agricultural machinery) ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงเรื่องการปรับระยะห่างของร่องนั้น เมื่อผู้ออกแบบเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับแต่งให้ได้ระยะตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว ดังเช่นที่ปรากฏตัวอย่างตามเอกสารจากเว็บไซต์ “thehindu.com” แนบท้ายรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งระบุว่าเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับระยะห่างระหว่างร่องจาก 830 มิลลิเมตร ถึง 1,000 มิลลิเมตร กรณีจึงเป็นเรื่องปกติ (ข) ชุดโครงผาลชักร่อง (2) และชุดจานผาลหมุน (4) ตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุเกี่ยวกับโครงผาลชักร่อง และชุดจานผาลหมุนว่า ชุดจานผาลชักร่องมีลักษณะคานคู่ วางขนาน ส่วนปลายทั้งสองด้านติดตั้งชุดจานผาลหมุนที่ปรับเลื่อนได้ ระหว่างกึ่งกลางส่วนด้านล่างชุดโครงผาลชักร่องมีชุดล้อขับติดตั้งอยู่ด้วยแกนเพลาและฐานยึดลูกปืนตุ๊กตา โดยปลายแกนเพลาด้านหนึ่งหมุนเข้ากับเฟืองขับโซ่ส่งกำลังไปที่ชุดเฟืองรับกำลังหน้าโดยโซ่หมุนไปที่เฟืองซึ่งยึดติดระหว่างแกนเพลาติดตั้งที่ด้านบนส่วนหน้าชุดโครงผาลชักร่อง ดังนั้นชุดโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จึงเป็นเพียงโครงสร้างสำหรับยึดเกาะให้แก่ชิ้นส่วนต่างๆ นำไปพ่วงกับรถแทรกเตอร์และมิได้มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนางดาเรศร์ พยานโจทก์ทั้งสองว่า ลักษณะของโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 เป็นโครงสร้างปกติ พบได้ในเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั่วไป ที่จำเลยที่ 1 นำชุดโครงผาลชักร่องดังกล่าวมาใช้กับเครื่องปลูกอ้อย จึงเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ส่วนชุดจานผาลหมุนนั้น การที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนอุปกรณ์เปิดดินจากหัวหมูชักร่องเป็นจานผาลหมุนซึ่งเป็นอุปกรณ์เปิดดินอีกชนิดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตรสามารถคาดหมายได้โดยง่าย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจานผาลหมุนตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 สามารถปรับเลื่อน เพิ่มเติมและปรับองศาได้นั้น ปรากฏว่าการปรับแต่งดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยสภาพของจานผาลอยู่แล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ นอกจากนี้การที่สิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุถึงปัญหาของการใช้เครื่องปลูกอ้อยว่า ใบหัวหมูทำให้ไม่สามารถทำการปลูกได้อย่างต่อเนื่องเพราะปลายแหลมของใบหัวหมูสะดุดรากไม้ ตอไม้ใต้ดิน ก้อนหิน หรือเหง้าอ้อยในแปลงปลูกอ้อยเดิม ทำให้ติดขัด ดินเกาะติดส่วนหน้าใบหัวหมู ทำให้ไม่สามารถเปิดดินได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถปรับระยะความถี่ห่างของร่องปลูกอ้อยได้ กลับปรากฏความเห็นของนางดาเรศร์ในรายงานโต้แย้งว่า อุปกรณ์เปิดร่องแบบผาลทำให้ผาลสามารถกลิ้งข้ามสิ่งกีดขวางได้จริง แต่จะมีผลเสียมากกว่า เนื่องจากท่อนพันธุ์จะลอยบนพื้นไม่ฝังดินและท่อนพันธุ์จะเสียหายรวมทั้งอ้อยไม่งอก แต่แบบหัวหมูชักร่องสามารถเชื่อมั่นได้ว่าท่อนพันธุ์จะถูกวางลงในดินในระดับความลึกที่ต้องการได้อย่างสม่ำเสมอเท่ากัน กับถูกกลบด้วยความหนาของดินที่เท่ากันและหนาตามความต้องการของผู้ใช้ได้ จึงไม่ควรนับเป็นการออกแบบที่ดีขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบแสดงหลักฐานเปรียบเทียบการใช้เครื่องปลูกอ้อยที่ใช้หัวหมูชักร่อง กับการใช้จานผาลหมุนเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าการใช้จานผาลหมุนทำให้ได้ผลผลิตอ้อยดีกว่าแบบหัวหมูชักร่องอย่างไร อีกทั้งแบบหัวหมูชักร่องยังเป็นอุปกรณ์เปิดดินประเภทที่สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 – 2540 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกมาเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจรับฟังตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าการใช้จานผาลหมุนตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีประสิทธิภาพดีกว่าอุปกรณ์เปิดดินแบบเดิม (ค) ชุดล้อขับ (3) ตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุเกี่ยวกับชุดล้อขับว่ามีลักษณะเป็นแกนเพลา ยึดติดระหว่างกึ่งกลางเหล็กเส้นวงกลม มีเดือยยื่นออกสลับระหว่างกึ่งกลางและขอบนอกเหล็กเส้นวงกลม โดยแกนเพลาสวมเข้าระหว่างกึ่งกลางหน้าแปลนที่มีเหล็กค้ำยันยึดกับเหล็กเส้นวงกลมที่ปลายแกนเพลาด้านหนึ่งเป็นเกลียวนอกเกลียวซ้าย เห็นว่า ชุดล้อขับตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ทำหน้าที่ช่วยรับน้ำหนักของเครื่องปลูกอ้อยและขับเคลื่อนกลไกการตัด (cutter machanism) ชุดล้อขับจะหมุนเฟืองขับโซ่ที่ยึดติดปลายแกนเพลาชุดล้อขับให้หมุนตาม และส่งกำลังขึ้นไปที่เฟืองรับกำลังหน้าโดยใช้โซ่ หลักการทำงานเป็นการควบคุมเพลาให้หมุนเฉพาะเมื่อรถแทรกเตอร์เคลื่อนที่เหมือนกับ “Ground Wheel” ซึ่งนางดาเรศร์พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า “Ground Wheel” ดังกล่าวใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรต่าง ๆ นอกจากนี้ตามภาพถ่ายเอกสารแนบที่ 4 ท้ายรายงาน แสดงภาพล้อเหล็กที่มีเดือย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 นำล้อเหล็กที่มีเดือยซึ่งมีผู้ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดอื่นมาใช้กับเครื่องปลูกอ้อยแทนล้อยาง ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับเครื่องจักรทางการเกษตรคาดหมายได้อยู่แล้ว (ง) ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) และชุดล้อกดหน้าดิน (9) ตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุเกี่ยวกับชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมีว่า ประกอบด้วยแกนเพลาที่ปลายแกนเพลาด้านหนึ่งเชื่อมติดเข้ากับเหล็กแบน มีรูเจาะระหว่างกึ่งกลางแกนเพลางอประมาณ 30 องศา มีฐานยึดปลายแกนเกลียวและฐานยึดปลายปลอกเกลียวส่วนปลายเชื่อมติดหน้าแปลนยึดเข้ากับหน้าแปลน จานผาลกลบด้วยนอต และระบุเกี่ยวกับชุดล้อกดหน้าดินว่าประกอบด้วยแกนเพลาที่ปลายแกนเพลาด้านหนึ่งเชื่อมติดเหล็กแบน เจาะรูประกบเข้ากับฐานยึดปลายแกนเพลาเชื่อมติดฐานยึดล้อกดหน้าดินที่มีล้อกดหน้าดินลักษณะทรงกระบอก หน้าตัดมีเดือยยื่นออกสลับ ระหว่างขอบนอกแกนเพลาสวมเข้าตรงจุดศูนย์กลางพร้อมลูกปืนและนอตยึดรวมทั้งเหล็กขูดดิน เห็นว่า สำหรับชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี (8) นั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้จานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมีกับเครื่องปลูกอ้อย และใช้ล้อกดหน้าดินนั้นโดยหลักการทำงานยังคงเป็นการกลบและปิดหน้าดินเช่นเดิม และการเปลี่ยนมีเพียงชนิดของอุปกรณ์ในการกลบหรืออุปกรณ์ปิดหน้าดิน ถือได้ว่าเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร (จ) ชุดถังปุ๋ย (11) ตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ระบุเกี่ยวกับชุดถังปุ๋ยว่ามีลักษณะด้านบนทรงสี่เหลี่ยมด้านล่างทรงกรวยด้านบนมีฝาปิดด้านล่างยึดติดกับท่อปลายเปิดซึ่งสวมเข้ากับแกนเพลาเกลียวโรยปุ๋ยที่มีเกลียว โรยปุ๋ยลักษณะเป็นเกลียวซ้าย ขวา เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำชุดถังปุ๋ยซึ่งทำงานในหลักการเดียวกันมาใช้กับเครื่องปลูกอ้อย จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ดังนั้นเมื่อพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องตัดอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ทั้งหมดแล้ว เห็นว่า การประดิษฐ์ชุดฐานใส่อ้อย ชุดโครงผาลชักร่อง ชุดล้อขับ ชุดจานผาลหมุน ชุดกล่องป้อนอ้อย ชุดจานผาลกลบท่อนอ้อยกลบปุ๋ยเคมี ชุดล้อกดหน้าดิน และชุดถังปุ๋ย ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร และการที่จำเลยที่ 1 นำอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมารวมเข้าด้วยกัน ไม่ก่อให้เกิดผลทางเทคนิคใหม่ ๆ หรือผลที่พัฒนาขึ้นจากการรวมนั้น นอกเหนือไปจากผลทางเทคนิคของอุปกรณ์นั้น ๆ เอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ