คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4150/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องและคำให้การมีประเด็นอยู่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นหรือไม่ หากเป็นทางจำเป็นแล้วควรกว้างยาวเพียงใด และโจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินหรือไม่ โจทก์หาต้องบรรยายว่า ที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อน ส่วนการที่ที่ดินของโจทก์และจำเลยจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนก็เป็นเรื่องผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน ดังนั้น มาตรา 1350 นั้น จึงไม่จำต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องและเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นจากการพิจารณา กล่าวคือ หากที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่จำต้องเสียค่าทดแทน หากทางจำเป็นมิได้เกิดจากการแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันผู้ที่ขอใช้ทางจำเป็นก็จำต้องใช้ค่าทดแทน การที่โจทก์นำสืบว่า ที่ดินของโจทก์จำเลยเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนจึงไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องเป็นทางจำเป็น มีความกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 120 เมตร จากทางสาธารณประโยชน์บ้านผีผ่วน – บ้านดวน ถึงที่ดินโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทางพิจารณาส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองตามแผนที่สังเขป ของที่ดินโฉนดเลขที่ 7836 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4645 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร กว้าง 3.5 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว จากที่ดินของโจทก์ถึงทางสาธารณประโยชน์บ้านผีผ่วน – บ้านดวน เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 18050 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางพิพาทมีความกว้าง 3 เมตร ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายมองกับนางทองดำ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 18050 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ที่ดินแปลงดังกล่าวทางทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยสองแปลงคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4645 ตำบลน้ำอ้อม กิ่งอำเภอค้อวัง (อำเภอค้อวัง) จังหวัดยโสธร กับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7836 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ประการแรกเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แต่เพียงว่า โจทก์จำเลยได้ที่ดินมาจากมรดกเท่านั้น โดยมิได้บรรยายว่า เคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนไว้แต่อย่างใด การที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ จำเลย เคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนจึงเป็นการนำสืบนอกฟ้อง นอกประเด็น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินจากที่ดินแปลงที่แบ่งแยกคือที่ดินของจำเลยซึ่งเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ได้เท่านั้นตามมาตรา 1350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ชอบนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นตามคำฟ้อง คำให้การ ประเด็นมีอยู่ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นหรือไม่ หากเป็นทางจำเป็นแล้วควรกว้างยาวเพียงใด และโจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินหรือไม่ โจทก์หาจำต้องบรรยายว่า ที่ดินของโจทก์ จำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อน ส่วนการที่ที่ดินของโจทก์และจำเลยจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนก็เป็นเรื่องผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน ดังนั้นมาตรา 1350 นั้น จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องและเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นจากการพิจารณา กล่าวคือ หากที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะก็ไม่จำต้องเสียค่าทดแทน หากทางจำเป็นมิได้เกิดจากการแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันผู้ที่ขอใช้ทางจำเป็นก็จำต้องใช้ค่าทดแทน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share