แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าตนได้ชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนจะต้องถูกประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่ม และหนี้ภาษีอากรที่ชำระไม่ครบถ้วนไว้ในปีใดก็เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วในปีนั้น ไม่ใช่หนี้จะเกิดมีขึ้นในปีที่มีการแจ้งประเมิน การโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนไปโดยรู้อยู่ว่าตนมีหนี้ภาษีอากรที่จะต้องชำระ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะนำมาชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ได้ การทำนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 สมคบกับจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์สามารถที่จะนำเอาทรัพย์ที่รับโอนมานั้นบังคับชำระหนี้ได้ แต่จำเลยที่ 6 ผู้รับโอนที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งจากจำเลยที่ 5 ไม่ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ 5 เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงไม่อาจจะเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 ได้ โจทก์คงมีอำนาจที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทสามแปลงที่เหลือเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าปี พ.ศ. 2517-2520 เป็นเงินทั้งสิ้น 468,413.42 บาทเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 197ตำบลละหานทรายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และได้โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 198ตำบลละหานทรายให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 192 ตำบลสตึก ให้แก่จำเลยที่ 4 และวันที่ 29 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9141ตำบลอิสาน ให้แก่จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ได้โอนขายต่อให้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยทุกคนทราบดีว่าเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบเพราะเป็นการโอนโดยประสงค์จะไม่ให้โจทก์สามารถยึดมาชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวทั้งสี่แปลง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้ภาษีอากร การโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 นั้น กระทำโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ทราบว่าเป็นหนี้โจทก์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2526 ซึ่งเป็นระยะภายหลังที่จำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินให้กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของฝ่ายจำเลยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างร่วมกับภริยามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาจังหวัดบุรีรัมย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึงปี 2529 การที่จำเลยที่1 ประกอบอาชีพที่มีลักษณะเป็นทางการค้าดังกล่าว และเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมาเป็นเวลานาน จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในสถานะที่รู้ได้เป็นอย่างดีว่าตนมีรายได้จากการประกอบการค้ามากน้อยเท่าใด ชำระภาษีแต่ละปีไว้ครบถ้วนหรือไม่ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่าตนได้ชำระภาษีอากรสำหรับปี พ.ศ. 2517-2520 ไว้ไม่ครบถ้วน จะต้องถูกประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มและหนี้ภาษีอากรที่ชำระไม่ครบถ้วนไว้ในปีใดก็เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วในปีนั้น ไม่ใช่หนี้จะเกิดมีขึ้นในปีที่มีการแจ้งประเมิน ดังนั้น หนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นั้นจึงมีอยู่แล้ว ครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2521 และจำเลยที่ 1 ก็ทราบเช่นนั้นมิใช่ว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งมารู้ว่ามีหนี้ภาษีอากรในปี พ.ศ. 2525ที่ได้รับแจ้งการประเมิน การโอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งสี่แปลงดังกล่าวนั้น จึงเป็นการโอนไปโดยรู้อยู่ว่าตนมีหนี้ภาษีอากรที่จะต้องชำระ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้งสี่แปลงไปแล้วนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะนำมาชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ได้ การทำนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่แปลงของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ การโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 197 โฉนดเลขที่197 โฉนดเลขที่ 192 นั้น ปรากฏทางทะเบียนว่า จำเลยที่ 1 โอนโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรทั้งต่อมาแม้จะมีการจดทะเบียนกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3สำหรับที่ดินโฉนดที่ 197 ว่ามีการขายกันก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการซื้อขายกันจริงเพราะหลังจากจดทะเบียนการขายเพียงเดือนเดียวก็มีการจดทะเบียนจำนอง และทั้งสามโฉนดดังกล่าว-ในที่สุดมีการจดทะเบียนจำนองทั้งสิ้นโดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเหตุผลและความจำเป็นอันเชื่อได้ในข้อที่จะต้องนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง จึงเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่า น่าจะเป็นเรื่องสมคบกันกับจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์สามารถที่จะนำเอาทรัพย์ที่รับโอนมานั้นบังคับชำระหนี้ได้ ดังนั้นสำหรับที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนเสียงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9141 นั้น ปรากฏว่าในการโอนช่วงสุดท้ายที่จำเลยที่ 5 โอนให้จำเลยที่ 6 ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายที่ดินว่าจำเลยที่ 6 รับโอนมาโดยมีค่าตอบแทน จำเลยที่ 6 มิได้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งพยานที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยที่ 6 ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ 5 เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่อาจจะเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่197 และ 198 และโฉนดเลขที่ 192 ให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.