คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++ ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 1 หน้า 22 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง คดีแรงงาน
ผู้ร้อง อุทธรณ์คัดค้าน คำสั่งศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ ๑๑ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒
ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๓๔ จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๔,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๕ และ๑๕ ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๔๐ วัน เป็นเงิน๑๑๒,๐๐๐ บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๕ วันเป็นเงิน ๑๑,๖๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน ๑๑๒,๐๐๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๑,๖๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี เพราะอาจถูกโจทก์ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา และหากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นย่อมได้รับความสูญเสีย ประกอบกับกรรมการอื่นไม่ยอมร่วมกับผู้ร้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความแก้ต่างให้จำเลย ผู้ร้องจึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑)(๒)
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามคำร้อง ผู้ร้องเป็นเพียงกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของจำเลยเท่านั้น มิได้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากผลของคำพิพากษา หรือมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้อง และมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน๑๑๑,๙๙๙.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๑,๖๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมีความจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง และมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย เป็นนายจ้างผู้เลิกจ้างโจทก์ และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ เห็นว่าจำเลยเป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้องแม้ผู้ร้องจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย แต่การที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ไม่มีผลโดยตรงต่อผู้ร้อง ส่วนการที่ผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยและเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ก็เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่จะทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ผู้ร้องย่อมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ผู้ร้องจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิ และไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีไม่อาจขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องชอบแล้วอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share