แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง อายุความคดีนี้จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งมีความหมายว่า อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้น เป็นอันสะดุดหยุดลง เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งในกรณีนี้อายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งวรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเด็ดขาดไปก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่ง ดังนั้น ในกรณีของคดีนี้ จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เท่านั้น ไม่ใช่กรณีของวรรคสี่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่นอนสำหรับให้คดีนี้จำต้องถือตาม ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้กันต่อไปให้เป็นที่ยุติ ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง
แม้จะเห็นได้ในตัวว่าแก๊ปวงและดอกไม้เพลิงที่จำเลยมีอยู่ในครอบครองในขณะนั้น เป็นทรัพย์อันอาจเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ทุกกรณีจะต้องเกิดจากสภาพหรือลักษณะของตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุเสมอไป เพราะการกระทำของบุคคลต่อทรัพย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ ก็อาจสามารถเป็นเหตุก่อให้เกิดผลเช่นที่เกิดในคดีนี้ได้ เหตุนี้ ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องปรับบทตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 2,416,908 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,067,943 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,722,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าดอกไม้เพลิง มีแผงลอยสำหรับทำการค้าดังกล่าวอยู่บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์ของโจทก์บนถนนสุคนธวิท ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้ที่ทำการของโจทก์ได้รับความเสียหายและศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ได้รับชดใช้ 1,722,200 บาท หลังเกิดเหตุจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในข้อหากระทำการโดยเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้และบุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย ต่อศาลชั้นต้นในมูลกรณีเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 คดีถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7878/2548 ของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ หลังจากมีการฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ในคดีอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว อายุความฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่ คือ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จึงเห็นได้ว่า กรณีจะเป็นดังที่จำเลยฎีกาต้องหมายความว่า ศาลในคดีอาญาพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่จะมีการยื่นฟ้องคดีแพ่ง แต่คดีนี้ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง อายุความคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 51 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งมีความหมายว่า อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้น เป็นอันสะดุดหยุดลง กล่าวคือ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงแล้วจึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งในกรณีนี้อายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งวรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเด็ดขาดไปก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่ง ดังนั้น ในกรณีของคดีนี้ จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 51 วรรคสอง เท่านั้นไม่ใช่กรณีของวรรคสี่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น เห็นว่า ในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า บริเวณแผงลอยของจำเลยเป็นจุดที่ดอกไม้เพลิงเกิดการระเบิดและลุกไหม้ขึ้นอย่างรุนแรง แต่ข้อเท็จจริงไม่อาจเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งได้ว่าจำเลยเป็นคนเทแก๊ปวงออกจากถุงพลาสติกอย่างแรงจนเกิดการเสียดสีลุกเป็นไฟ แล้วจำเลยสลัดแก๊ปวงที่ติดไฟตกลงบนแผงลอยจำหน่ายดอกไม้เพลิงของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ทั้งตามพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงกับแผงลอยของจำเลยมีร้านมาร์แตงวางขายดอกไม้เพลิงอยู่บนฟุตบาธหน้าร้านห่างจากแผงลอยของจำเลยเพียงเล็กน้อย และดอกไม้เพลิงที่ร้านมาร์แตงก็ลุกไหม้เสียหายเช่นเดียวกัน จึงชวนให้สงสัยว่าจุดที่เริ่มเกิดประกายไฟลุกไหม้ขึ้นก่อนที่พลุจะระเบิดนั้นเกิดที่ใดแน่ ศาลชั้นต้นจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่นอนสำหรับให้คดีนี้จำต้องถือตาม ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้กันต่อไปให้เป็นที่ยุติ ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาจึงมีต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งควรวินิจฉัยก่อนว่า ความรับผิดของจำเลยในคดีนี้จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือมาตรา 437 เนื่องจากจำเลยได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่า ความรับผิดของจำเลยเป็นไปตามมาตรา 437 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้และการระเบิด ศาลฎีกาได้ตรวจคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แล้วเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ยืนยันว่าเหตุครั้งนี้เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่เทแก๊ปวงออกจากภาชนะอย่างรุนแรงและรวดเร็วโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแก๊ปวงเป็นวัตถุไวไฟหากเสียดสีหรือกระทบกันอาจเกิดประกายไฟและลุกไหม้ได้ และจำเลยไม่ควรโยนแก๊ปวงที่ติดไฟลงไปยังแผงจำหน่ายดอกไม้เพลิงของจำเลย สอดคล้องกับคำฟ้องในคดีอาญาที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวโดยประมาท ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะเห็นได้ในตัวว่าแก๊ปวงและดอกไม้เพลิงที่จำเลยมีอยู่ในครอบครองในขณะนั้นจะเป็นทรัพย์อันอาจเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามความหมายของมาตรา 437 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ทุกกรณีจะต้องเกิดจากสภาพหรือลักษณะของตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุเสมอไป เพราะการกระทำของบุคคลต่อทรัพย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ก็อาจสามารถเป็นเหตุก่อให้เกิดผลเช่นที่เกิดในคดีนี้ได้ เหตุนี้ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องต้องวินิจฉัยปรับบทตามมาตรา 420 และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่บรรยายฟ้องดังกล่าว ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทในการหยิบแก๊ปวงออกจากกล่องเป็นเหตุให้เกิดประกายไฟร่วงหล่นจากมือไปกระทบกับดอกไม้เพลิงบนแผงจนเกิดไฟลุกไหม้และเกิดการระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หลายประการตามฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ