แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมต้องเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 แม้เอกสารจะใช้คำว่าพินัยกรรมและข้อความในตอนต้นอาจมีทางพอจะตีความว่าได้เป็นพินัยกรรมก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความตอนอื่นประกอบแล้ว เห็นว่าผู้ตายหาได้มีเจตนาจะทำพินัยกรรมไม่หากเป็นหนังสือสัญญาซึ่งทำไว้แก่ฝ่ายสาว เวลาที่ผู้ตายจะได้จำเลยเป็นภริยาเท่านั้น การที่ผู้ตายเขียนคำว่า ขอทำพินัยกรรม ในตอนต้นจึงเป็นการใช้ถ้อยคำผิด ดังนี้ เอกสารเช่นว่านั้น จึงไม่ใช่พินัยกรรม
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องในกองมรดกของผู้ตาย และห้ามมิให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในการรับมรดกของผู้ตายคำขอไม่ให้เกี่ยวข้องนี้กว้างมาก หากศาลพิพากษาห้ามดังโจทก์ขอแล้ว อาจไปกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องร้องกันนี้ก็ได้ ฉะนั้นศาลจึงพิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกองมรดกของผู้ตาย ในฐานะเป็นผู้รับมรดก ส่วนคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากเรือนซึ่งเป็นกองมรดกของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยานายชิต มีสมรสตามบัญชีท้ายฟ้องจำเลยเป็นนางบำเรอ นายชิตตาย โจทก์ได้นำโฉนดที่ดิน 2 แปลง อันเป็นสินสมรสไปประกาศรับมรดก จำเลยคัดค้าน จึงขอให้ศาลสั่งห้าม และขับไล่จำเลยออกไปจากเรือนซึ่งเป็นกองมรดกของนายชิตจำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยานายชิต แม้จะเคยก็ขาดกันแล้ว จำเลยทราบว่านายชิตมีภริยาอีกคนหนึ่งชื่อ เชยโดยจดทะเบียนสมรส ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้อง ไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายชิต ที่ดิน 2 แปลงเป็นสินส่วนตัวของนายชิต ส่วนเรือนเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายชิต นายชิตได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงให้จำเลย ศาลชั้นต้นฟังว่า นายชิตได้ทำพินัยกรรมยกที่ 2 แปลงให้จำเลย ส่วนเรือนนั้นจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับนายชิตพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์แก้ให้แบ่งที่ดิน 2 แปลงเฉพาะส่วนของนายชิตที่มีร่วมกับนางจากซึ่งถือว่าเป็นสมรสระหว่างโจทก์กับนายชิตเป็น 3 ส่วน ตกเป็นมรดกนายชิต 2 ส่วน เป็นของโจทก์ 1 ส่วน ส่วนที่เป็นมรดกของนายชิต ให้ได้แก่จำเลยตามพินัยกรรม ส่วนเรือนคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายชิต จำเลยไม่มีสิทธิได้รับ จึงห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับเรือนหลังนี้ต่อไป
โจทก์ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารที่นายชิตทำไว้ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมนั้น แม้จะใช้คำว่า พินัยกรรม และข้อความในตอนต้นอาจมีทางพอจะตีความได้ว่า เป็นพินัยกรรมก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความตอนอื่นประกอบคือข้อที่ว่า ยอมเป็นบุตรเขย สินสอดเท่านั้น ทองหนักเท่านี้ขืนไปอยู่กับภริยาเก่าให้ฟ้องได้ ประกอบกับมีนายเจริญรับรองว่าจะไม่ให้นายชิตคืนดีกับภริยาเก่าด้วย ศาลฎีกาเห็นว่านายชิตหาได้มีเจตนาจะทำพินัยกรรมไม่ แต่หากเป็นสัญญาซึ่งทำให้แก่ฝ่ายสาว เวลานายชิตจะได้กับจำเลยเท่านั้น การที่นายชิตเขียนคำว่า ขอทำพินัยกรรมในตอนต้น แทนที่จะใช้คำว่า ขอให้สัญญา หรือขอทำสัญญายิ่งอ่านข้อ 1 ในเอกสารนี้ ที่ว่า ขอทำพินัยกรรมว่าจะไม่ให้ภริยาเก่ามาเกี่ยวข้องในนา และข้อ 3 ที่ว่า ถ้านายชิตตาย หรือขืนไปอยู่กับภริยาเก่า ที่ทิ้งหย่ากันแล้วนั้น ขอให้นำพินัยกรรมนี้ไปฟ้องร้องยังโรงศาล ประกอบด้วย แล้วยิ่งเห็นว่า เป็นการใช้ถ้อยคำผิดแน่ ที่จะเป็นพินัยกรรมต้องเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 เอกสารนี้จึงไม่ใช่พินัยกรรม เมื่อเอกสารฉบับนี้ ไม่ใช่พินัยกรรม ข้อที่ว่าควรแบ่งทรัพย์ระหว่างโจทก์กับนายชิตคนละครึ่ง ก็ไม่ต้องวินิจฉัย
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องในการรับมรดกของนายชิต คำขอไม่ให้เกี่ยวข้องนี้กว้างมากหากศาลพิพากษาห้ามดังโจทก์ขอแล้ว อาจไปกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องร้องกันได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงคำพรรณาในคำฟ้องประกอบกับคำขอท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่าโจทก์ขอให้ศาลแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกนายชิตและขอห้ามอย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกองมรดกนายชิต ในฐานะเป็นผู้รับมรดกศาลจึงพิพากษาให้อย่างนั้น ส่วนคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกไปจากเรือน ซึ่งเป็นกองมรดกของนายชิตด้วยนั้นก็เช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่มีสิทธิจะรับมรดกนายชิต และห้ามมิให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกองมรดกนายชิต ในฐานะเป็นผู้รับมรดก