คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 การ “จับ” นั้น เพียงแต่ทำให้ผู้ถูกจับรู้สึกตัวว่าขาดอิสระภาพไม่สามารถไปไหน ได้สะดวกต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานก็พอไม่จำต้องใช้กำลัง ไม่จำต้องแจ้งข้อหาทันที หรือแจ้งสิทธิของ ผู้ถูกจับหรือต้องทำบันทึกการจับกุมก่อน
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง, 295, 296 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องมาตรา 295 และมาตรา 296 จำเลยฎีกาฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้ฎีกาขอเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 และมาตรา 296 ได้ ถือเป็นการปรับบทให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ป.อ. มาตรา ๑๓๘, ๒๙๕, ๒๙๖, ๓๗๑, ๙๑ และให้คืนอาวุธปืนของกลาง แก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหา พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง, ๒๙๕, ๒๙๖ อันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๖ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ กระทงหนึ่ง และ ผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา ๓๗๑ อันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา ๗๒ ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ปรับ ๒,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงปรับ ๑,๐๐๐ บาท รวมโทษ จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๗,๐๐๐ บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง ให้จำคุก ๒ เดือน และ ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ส่วนข้อหาตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๕, ๒๙๖ ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโท ด. สิบตำรวจโท ค. สิบตำรวจโท ธ. และพลตำรวจ บ. เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้ตั้งด่านตรวจที่ปากซอยประชาอุทิศ ๖๙ แขวงทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร มีรถยนต์ คันหนึ่งแล่นผ่านมา พันตำรวจโท ด. เรียกหยุดและขอตรวจรถ ตรวจค้นรถพบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง พันตำรวจโท ด. จึงยึดอาวุธปืนของกลางและสั่งให้ควบคุมตัวจำเลยไปสถานีตำรวจนครบาลทุ่งครุ โดยจำเลยได้ ขับรถยนต์ออกไปก่อน เมื่อถึงปากซอยประชาอุทิศ ๗๕ จำเลยเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายจะเข้าซอย สิบตำรวจโท ค. จึงขับรถจักรยานยนต์แซงไปทางซ้ายมือไปจอดขวางไว้ที่ปากซอยและชี้มือบอกให้ตรงไป แต่จำเลยพยายามจะขับรถเลี้ยวเข้าซอยและเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของสิบตำรวจโท ค. ล้มลง จำเลยจอดรถแล้วลงมาใช้มือบีบคอสิบตำรวจโท ค. พูดบอกว่ามึงขวางทางกูทำไม กูจะเข้าบ้านกู สิบตำรวจโท ค. จึงถอยออกมา สิบตำรวจโท ธ. ซึ่งขับรถจักรยานยนต์เลยไปย้อนกลับมาแล้วลงจากรถดึงชายเสื้อจำเลยให้ถอยออกมา จึงถูกจำเลยชกที่หน้า สิบตำรวจโท ธ. จึงกอดปล้ำและรวบมือจำเลยไว้ พลตำรวจ บ. จึงยื่นกุญแจมือให้สิบตำรวจโท ธ. ใส่กุญแจมือจำเลยไว้แล้วได้วิทยุแจ้งพันตำรวจโท ด. พันตำรวจโท ด. กับพวกจึงมาที่เกิดเหตุ เห็นว่า จำเลยตั้งแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถพบอาวุธปืนจนกระทั่งขับรถออกไปนั้น มีพฤติการณ์ในทางก้าวร้าวไม่ยำเกรงต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่โดยแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏจากคำเบิกความของพลตำรวจ บ. ที่เข้าไปพูดขอตรวจค้นรถ จำเลยบอกว่าตรวจหาอะไร พลตำรวจ บ. บอกว่าตรวจของผิดกฎหมาย จำเลยพูดว่าอยากเปิดก็เปิดเอง เมื่อตรวจค้นพบอาวุธปืน ก็ปรากฏจาก คำเบิกความของพันตำรวจโท ด. ว่า จำเลยเดินเข้ามาหาและแนะนำว่าเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติกอยู่ใน ซอยประชาอุทิศ ๗๕ พันตำรวจโท ด. ถามว่าทำไมไม่นำหลักฐานใบพกพามา จำเลยบอกว่าเก็บไว้ในเซฟ พันตำรวจโท ด. จึงบอกให้ไปสถานีตำรวจทุ่งครุก่อนแล้วค่อยให้ญาตินำใบอนุญาตพกพามาดูตอนหลัง จำเลยบอกว่าอาวุธปืนเพิ่งนำมาไม่กี่วัน จะนำไปซ้อมยิงแต่ไม่ได้ซ้อมยิงเพราะสนามปิดจึงไปนั่งดื่มสุราและเบียร์ต่อ พันตำรวจโท ด. ได้สั่งให้คุมจำเลยไป จำเลยจึงขับรถออกไปแสดงว่าจำเลยได้แสดงกิริยาอวดเบ่งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ และรู้ดีอยู่แล้วว่า พันตำรวจโท ด. สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวจำเลยไปสถานีตำรวจ โดยพันตำรวจโท ด. มอบอาวุธปืนให้ สิบตำรวจโท ค. ไปด้วย กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการจับแล้ว เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ บัญญัติว่า “ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพร้อมด้วยผู้จับ แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนีผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกัน ทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น” ซึ่งการจับเพียงแต่ทำให้ผู้ถูกจับรู้สึกตัวว่าขาดอิสระภาพ ไม่สามารถไปไหนได้สะดวกต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานก็พอ ไม่จำต้องใช้กำลัง ไม่จำต้องแจ้งข้อหาทันที หรือแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือต้องบันทึกการจับกุมก่อน ดังจำเลยฎีกาหลังจากที่จำเลยถูกจับแล้ว จำเลยมีพฤติการณ์ที่พยายามจะหลบหนีจากการควบคุม เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจใช้กำลังใช้วิธีหรือความป้องกันซึ่งเหมาะสมแก่การจับกุมตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ วรรคสอง แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
การที่จำเลยทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานเพื่อจะหลบหนีดังกล่าวเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง, ๒๙๕ และ ๒๙๖ อันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๖ แต่โจทก์มิได้ฎีกาขอเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลฎีกาจึงเห็นควรปรับบทให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๕ ประกอบมาตรา ๒๑๒
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง, ๒๙๕, ๒๙๖ ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๖ ซึ่งเป็นบทที่โทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๒ เดือน และปรับ ๒,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share