คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188 และ 352 กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 7,324,311 บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 1,314,753 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 408,170 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 117,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดปัตตานีรวมโชค ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฐานยักยอก (ตามฟ้องข้อ 2.26, 2.34, 2.35, 2.36, 2.37, 2.38, 2.39, 2.40, 2.41, 2.42, 2.44, 2.47, 2.51, 2.52, 2.55, 2.60, 2.62, 2.66, 2.70 และ 2.71) จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 20 กระทง จำคุก 40 เดือน ฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 (ตามฟ้องข้อ 2.4, 2.6, 2.7, 2.8, 2.11, 2.14 และ 2.31) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 7 กระทง จำคุก 42 เดือน ฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 ยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 (ตามฟ้องข้อ 2.1, 2.3, 2.5, 2.9, 2.10, 2.15 และ 2.19) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 7 กระทง จำคุก 42 เดือน ฐานร่วมกับจำเลยที่ 3 ยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 3 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 (ตามฟ้องข้อ 2.12 และ 2.13) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน ฐานร่วมกับจำเลยที่ 4 ยักยอก ตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 4 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 (ตามฟ้อง ข้อ 2.2) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 142 เดือน จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 7 กระทง จำคุก 42 เดือน จำเลยที่ 3 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอก ตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยที่ 4 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอก ตามมาตรา 352 วรรคแรก กับฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูก ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น) ตามมาตรา 188 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 4,744,556 บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 1,314,753 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 408,170 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 117,800 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 2.36 และ 2.37 เป็นความผิดกรรมเดียว จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานยักยอกตามฟ้องข้อ 2.26, 2.34, 2.35, 2.36, 2.37, 2.38, 2.39, 2.40, 2.41, 2.42, 2.44, 2.47, 2.51, 2.52, 2.55, 2.60, 2.62, 2.66, 2.70 และ 2.71 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 19 กระทง จำคุก 38 เดือน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 4,747,809 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกฟ้อง ข้อ 2.67, 2.68 และ 2.69 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า บันทึกคำรับสารภาพเป็นพยานหลักฐานเท็จ เนื่องจากมีข้อความผิดพลาดบางส่วนไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวกัลยาณี พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมมาเบิกความเป็นพยานสอดคล้องกับพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายพิศาล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมซึ่งพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 มาเบิกความยืนยันว่า ภายหลังพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพโดยระบุรายชื่อลูกค้าและจำนวนเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยักยอกไป และให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานไว้โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบันทึกคำรับสารภาพดังกล่าวได้ทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงโดยมีความผิดพลาดทั้งหมดหรือบางส่วนหรือจำเลยที่ 1 ถูกบังคับขู่เข็ญให้ลงลายมือชื่อโดยไม่สมัครใจ อันจะนำมารับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ดังนั้นบันทึกคำรับสารภาพจึงไม่ใช่พยานหลักฐานเท็จตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา และสามารถนำมารับฟังได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 2.55 โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำผู้ออกเช็คมาเบิกความต่อศาล ทำให้คำเบิกความของนายพิศาลเป็นเพียงพยานบอกเล่าว่าจำเลยที่ 1 รับเช็คฉบับใดมานั้น เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมได้นำนายจรูญ เจ้าของแพปลา ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คดังกล่าวมาเบิกความยืนยันว่าได้มอบเช็คดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระค่าน้ำมันแก่โจทก์ร่วมแล้ว นายจรูญซึ่งเป็นผู้ออกเช็คย่อมเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ได้ดี และยังเบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายพิศาลผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมด้วย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังนายพิศาลซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเพียงปากเดียวแล้วลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามฟ้อง ข้อ 2.1, 2.6 ถึง 2.8, 2.11 และ 2.14 ว่าจำเลยที่ 4 เอาเช็คของโจทก์ร่วมไปนั้น เห็นว่า ความผิดตามฟ้องดังกล่าว ยกเว้นข้อ 2.7 โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสุวัฒน์ อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี พยานบุคคลมาเบิกความประกอบพยานเอกสารใบฝากเงิน เช็ค และรายการบัญชี ส่วนความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.7 โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางทัศนา พนักงานธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี พยานบุคคลมาเบิกความประกอบพยานเอกสารสำเนาใบฝาก เช็ค และรายการบัญชี ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายพิศาลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่น ย่อมไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ตามที่นำสืบมา หาใช่รับฟังนายพิศาลผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเพียงปากเดียวไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 นางสาวปานทิพย์ ให้การชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คตามฟ้องไปเรียกเก็บเงินวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 แล้วถอนเงินเกือบเต็มจำนวนโอนเข้าบัญชีนายสมชาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมเป็นการขาดเจตนายักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คที่รับแทนโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีอื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ย่อมถือได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนายักยอกเงินของโจทก์ร่วมอันเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ภายหลังจำเลยที่ 1 จะโอนเงินคืนโจทก์ร่วมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับคืนมาเป็นว่าไม่เป็นความผิดได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาข้อต่อไปว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 2.19 โจทก์และโจทก์ร่วมนำนางนพวรรณ มาเบิกความประกอบคำเบิกความของนายพิศาลเพียงปากเดียวว่าจำเลยที่ 1 รับเช็คดังกล่าวแล้วไม่ส่งให้โจทก์ร่วมโดยไม่นำผู้ออกเช็คมาเบิกความด้วย ทำให้นายพิศาลเป็นเพียงพยานบอกเล่า รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้นั้น เห็นว่า การที่นายเกียรติศักดิ์ ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่นางนพวรรณ นางนพวรรณจึงเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยชอบและเป็นผู้มอบเช็คดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 นางนพวรรณย่อมเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ได้ดี และนางนพวรรณเบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายพิศาลผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมอีกด้วย หาใช่รับฟังนายพิศาลที่เป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังฎีกาข้อกฎหมายว่า โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องไม่สมบูรณ์ โดยระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ ทั้ง 71 กรรม ไม่ครบถ้วนก็ดี บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยที่ 1 รับเงินสดแต่ไม่บรรยายว่ายักยอกเวลาใด หรือฟ้องข้อ 2.52 และ ข้อ 2.55 บรรยายว่าจำเลยที่ 1 รับเงินแต่นำสืบว่ารับเช็คก็ดี นั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้เป็นข้อยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 สามารถยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง เห็นว่า การที่โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า เหตุตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.71 เกิดที่ตำบลอาเนาะรู ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เกี่ยวพันกัน ถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว ส่วนที่ไม่ได้บรรยายสถานที่เกิดเหตุที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา หรือไม่ได้บรรยายฟ้องวันเวลายักยอกด้วย เห็นว่า ฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายสรุปข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำความผิดครบองค์ประกอบของความผิดโดยระบุวัน เวลาและสถานที่กระทำผิด รวมทั้งบุคคล และสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควร เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดีสามารถต่อสู้คดีตามฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมได้แล้ว ส่วนสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวและข้อเท็จจริงอื่นที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกามานั้น เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 หลงต่อสู้ จำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาข้อกฎหมายอีกว่า ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมและร้อยตำรวจเอกคณนาถ พนักงานสอบสวนมาเบิกความสอดคล้องตรงกันว่าได้มีการร้องทุกข์ภายในอายุความแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่นย่อมไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ยังมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 อีกว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกแล้วเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท โดยจะมีความผิดตาม มาตรา 188 อีกไม่ได้ก็ดี และจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมจึงไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมได้ก็ดี ฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขัดแย้งกันนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้เป็นข้อยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ก็สามารถยกขึ้นฎีกาได้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมได้รับเช็คจากลูกค้าโจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมแล้ว แทนที่จะนำเช็คนั้นเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แต่กลับนำไปเข้าบัญชีของจำเลยกับพวกเพื่อเรียกเก็บเงิน แล้วเก็บเงินตามเช็คนั้นไว้เอง จึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสาร (เช็ค) ของโจทก์ร่วม และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร (เช็ค) ของโจทก์ร่วมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อันเป็นกฎหมายบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
และที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 จะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วม โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขัดแย้งกันตามที่ฎีกามา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 188 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แต่กฎหมายที่บัญญัติใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน

Share