แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบห้าฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 113, 114
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติบัญญัติมาตรา 47 และมาตรา 48 ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่การทำรัฐประหารและการกระทำทั้งหลายในรูปแบบคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการออกกฎหมายเพื่อรับรองการใช้อำนาจที่ผิดครรลองระบอบประชาธิปไตยและละเมิดกฎหมายแผ่นดิน บทบัญญัติดังกล่าวมีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้ง หาได้มีสภาพเป็นกฎหมายไม่นั้น เห็นว่า สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ แม้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่ชอบในลักษณะที่เป็นกฎหมายก็ดี แต่การตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ตามที่กล่าวไปแล้ว และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ดังกล่าวบัญญัติว่า
“บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
อีกทั้งต่อมาเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 279 ยังบัญญัติรับรองว่า
“บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย”
ดังนั้น การกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้าโดยมิได้มีการไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 (1) และยังไม่ได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก่อน เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลรับฟ้องไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องนั้น ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องหรือต้องวินิจฉัยว่าฟ้องมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก่อนเสมอไป หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ดังนี้ เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ศาลชอบที่จะยกฟ้องได้เลยโดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน