คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ
การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือมอบอำนาจทั้ง 2 ฉบับ รายการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 รายการจดทะเบียนจำนองและไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และรายการจดทะเบียนขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม ไถ่ถอนจำนอง จำนอง และขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์โดยติดจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ดังเดิม หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 742 แก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 742 แก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 742 ตำบลบางพึ่ง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คืนแก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลและโจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อของโจทก์โดยกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดิน จำนองที่ดินและขายฝากที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมและฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ทำนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และจำนองที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 นำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ทำนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินของโจทก์จากจำเลยที่ 3 และขายฝากที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 4 โดยโจทก์ไม่มีเจตนาหรือประสงค์ให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทนดังกล่าว ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว คำบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิฟ้องเพื่อติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่จะต้องฟ้องร้องเสียภายใน 1 ปี ตามมาตรา 240 ดังจำเลยที่ 4 ฎีกา เมื่อกรณีคดีนี้เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การกระทำของโจทก์ตลอดมาดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 4 เชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มาทำนิติกรรมการขายฝากนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่าหนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใด และรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเอง เป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821, 822 ดังจำเลยที่ 4 ฎีกา และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4 ได้ และกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 4 อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share