คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4739/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 วรรคสองที่บัญญัติว่าคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น หมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ ศาลชั้นต้นวางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5แต่ละโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และ 52(2)คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 คนละ 30 ปี เมื่อโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์คงมีแต่จำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจหยิบยกคดีของจำเลยดังกล่าวขึ้นพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่หากศาลอุทธรณ์พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 5 มิได้กระทำความผิดซึ่งเป็นเหตุลักษณะคดีแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และ ที่ 5ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 100, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง,102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียว มีบทลงโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนเพียงบทเดียว ประหารชีวิตจำเลยทั้งหกจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยต้องระวางโทษเป็น 3 เท่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 100 แต่ศาลได้วางโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2)คงจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วย มาตรา 52(1) คงจำคุกคนละตลอดชีวิต ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรกและวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จำเลยที่ 2 ที่ 4ที่ 5 ที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรก, 100ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิตลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการตำรวจแต่ศาลได้วางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่สามารถเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 100ได้อีก จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษปราณี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 5 ไว้คนละ 25 ปี จำเลยที่ 2ที่ 4 ที่ 6 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษปราณีลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ไว้คนละ33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า “ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน”โทษตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นได้วางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นวางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และมาตรา 52(2) คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไว้คนละ 30 ปี เมื่อโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2จึงไม่มีอำนาจหยิบยกคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ขึ้นพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตาม หากศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5มิได้กระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 แต่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 หนักกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรกและวรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ความผิดทั้งสองฐานมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาต วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 15 วรรคแรก, 66 วรรคสอง, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 อีกบทหนึ่งด้วยให้วางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 5 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณามีประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2)คงจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกคนละตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share