คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัย มีวัตถุประสงค์จำกัดขอบเขตการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันในระหว่างผู้เข้าร่วมสัญญา ผู้เอาประกันภัย และบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิดเพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาฝ่ายที่ต้อง รับผิดเท่านั้น หาใช่สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดในค่าเสียหายส่วนเกินจากที่สละสิทธิเรียกร้องตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 743,223.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 721,575.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 100 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัยนั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไปด้วย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ เห็นว่า สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัยข้อ 2 วรรคแรก มีข้อความระบุว่า “ผู้ร่วมสัญญาตกลงสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันต่อรถยนต์ซึ่งเกิดจากการชนหรือความพยายามหลีกเลี่ยงการชนหรือเกิดจากการใช้รถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับผู้ร่วมสัญญา โดยผู้ร่วมสัญญาแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบในความเสียหายของรถยนต์ที่ตนรับประกันภัยไว้ภายใต้จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความประมาทของฝ่ายใด” วรรคสอง มีข้อความระบุว่า “การสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามความในวรรคแรกให้หมายความรวมถึงการสละสิทธิเรียกร้องต่อผู้เอาประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาและบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิดดังกล่าวด้วย” และบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันข้อ 2 มีข้อความระบุว่า “ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 2 วรรคสอง ของสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันฉบับข้างต้นและให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน การสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามความในวรรคแรกให้หมายความรวมถึงการสละสิทธิเรียกร้องต่อผู้เอาประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาและบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิดดังกล่าวด้วย เพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ของผู้ร่วมสัญญาฝ่ายที่ต้องรับผิดเท่านั้น” ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป แสดงว่า สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัยมีวัตถุประสงค์จำกัดขอบเขตการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันในระหว่างผู้เข้าร่วมสัญญา ผู้เอาประกันภัย และบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิด เพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาฝ่ายที่ต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดไม่ ดังจะเห็นได้จากสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัย ข้อ 3 ที่ระบุว่า “ผู้ร่วมสัญญาตกลงว่าสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายส่วนเกินจำนวนเงินเอาประกันภัยกับผู้ร่วมสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุรถยนต์ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนกันอันเนื่องมาจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า เหตุคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงไปเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยและรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปชนรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหายจริงตามฟ้อง ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นเงิน 950,000 บาท หลังจากหักจำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 1 ที่ทำกับจำเลยที่ 2 ที่ได้สละสิทธิเรียกร้องต่อกัน 600,000 บาท ออกแล้ว คงยังมีค่าเสียหายส่วนเกินที่โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ตามข้อสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัย ข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องไปเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดด้วยตนเองนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัยและบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นแล้วโดยจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยาน ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน เห็นว่า โจทก์มีนายสุกฤษ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ และนายเกียรติศักดิ์ พนักงานประเมินความเสียหายของโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบใบประเมินราคาค่าซ่อมและภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยโดยจำเลยที่ 1 ไม่สืบพยานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ารถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย กันชนหน้าและกันชนหลังครูดฉีก ฝากระโปรงหน้าและฝาปิดท้ายบุบ ไฟหน้าทั้งสองข้างและไฟท้ายขวาแตก ตัวถังด้านขวาบุบ ประตูหน้าด้านซ้ายและขวาบุบครูดดุ้ง กระจกมองข้างทั้งสองข้างและกระจกบังลมด้านหน้าแตก กระจังหน้าแตก แก้มหน้าซ้ายขวาบุบครูด และประตูเลื่อนซ้ายบุบครูดดุ้ง ยากต่อการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม หากซ่อมแซมแล้วก็ไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เมื่อพิจารณาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ข้อ 2.1 ระบุว่า “ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง” และย่อหน้าถัดมาระบุว่า “รถยนต์เสียหายสิ้นเชิงในที่นี้หมายถึงรถยนต์ได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมได้หรือเสียหายไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่ารถยนต์ในขณะเกิดความเสียหาย” รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้จึงถือว่าได้รับความเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่โจทก์ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางให้แก่ผู้เอาประกันภัย 950,000 บาท เมื่อหักกับเงินที่โจทก์ได้มาจากการประมูลขายซากรถยนต์ 231,775.70 บาท คงเหลือ ค่าเสียหาย 718,224.30 บาท ส่วนค่ายกลากรถนั้น นายสุกฤษ พยานโจทก์เบิกความประกอบใบเสร็จรับเงินว่า โจทก์ชำระค่ายกลากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเงิน 1,800 บาท จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ชำระค่ายกลากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยจำนวนดังกล่าวไปจริง ซึ่งตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ข้อ 3 ระบุว่า “เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายซึ่งมีการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ บริษัทจะจ่ายค่าดูแลรักษารถยนต์และค่าขนย้ายรถยนต์ทั้งหมด…” การจ่ายค่ายกลากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการจ่ายตามเงื่อนไขความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่ในส่วนของค่าสำรวจภัยที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทกรุงเทพเคลม จำกัด เป็นเงิน 1,551.50 บาท นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์เองไม่ใช่ค่าเสียหายจากการทำละเมิดโดยตรง โจทก์ต้องเป็นผู้ออกใช้เอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 878 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ คงมีค่าเสียหายในการที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยถูกชนซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นเงิน 720,024.30 บาท เมื่อหักจำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 1 ที่ทำกับจำเลยที่ 2 ที่ได้สละสิทธิเรียกร้องต่อกัน 600,000 บาท ออกแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด 120,024.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจากการขายซากรถยนต์ตามที่โจทก์ขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 120,024.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 100 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share