คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา(ก)

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ตามข้อเท็จจริงจึงลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน อันเป็นการปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ แต่โจทก์มิได้ฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288, 358, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสุภาภรณ์ผู้เสียหายและภริยาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกต้องระบุว่า อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 358)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 358, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และมาตรา 376 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธปืน (เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 15 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดมาสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ลุแก่โทษโดยให้การรับสารภาพ แม้จะเป็นการรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ จึงเห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนมานั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แม้ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจะมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสำหรับความผิดกระทงนี้ให้ปรับจำเลยสถานเดียวโดยมิได้ลงโทษจำคุก แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 นอกจากนี้การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับจำเลยโดยมิได้ปรับบทบังคับค่าปรับมาด้วย ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสีย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้วคงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share