แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญคืออักษรโรมันที่มีลักษณะประดิษฐ์ เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะระหว่างเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 จะมีจำนวนอักษรเท่ากันคือ 9 ตัว กับมีตัวอักษรที่ 1, 3, 4 และ 5 เหมือนกัน อักษรตัวแรกแม้จะเหมือนกัน แต่การประดิษฐ์ลายเส้นของตัวอักษรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอักษรตัวที่ 6 ถึง 9 นั้นแตกต่างกัน คือระหว่างอักษรโรมันคำว่า lite กับคำว่า trim และเมื่อพิจารณาโดยรวมทั้งเครื่องหมาย ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ยังมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบด้วย ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาต่อไปถึงเสียงเรียกขานก็เห็นได้ว่ามีความเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก แต่ต่างกันในพยางค์สุดท้าย หากเรียกทั้งสามพยางค์แล้ว เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็จะมีความแตกต่างกันและยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้บริโภคในสังคมจะเรียกหาสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 2 สั้นๆ เหมือนกันว่า “ไฮโดร” ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้ารวมตลอดถึงบรรจุภัณฑ์ของสินค้า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้าอาจเหมือนหรือคล้ายกัน คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าสิ่งที่สกัดจากพืชใช้เป็นอาหาร ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าอาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ แต่สินค้านี้มีราคาสูง ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพของบุคคลเชื่อว่าผู้บริโภคสินค้านี้จะศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวังทั้งทำความเข้าใจอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การที่สินค้ามีขนาดบรรจุเท่ากันหรือมีราคาเท่ากันนับเป็นเรื่องของการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นเจตนาไม่สุจริตจงใจลอกเลียนสินค้าเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 จึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
สำหรับกรณีของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะจะเห็นได้ว่า ยังมีความแตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะ เสียงเรียกขาน และจำพวกสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีอักษรโรมันจำนวน 13 ตัว และมีอักษรไทยคำว่า “ไฮโดรไลท์สลิม” กำกับอยู่ เสียงเรียกขานมี 5 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้า สินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษรโรมันจำนวน 9 ตัว โดยมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยนมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบ เสียงเรียกขานมี 3 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการสินค้า อาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ ความแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ชัดเจน ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกัน สาธารณชนไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 491989 ของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา ห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือที่คล้ายกันอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 950/2548 และให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 491989 กับห้ามจำเลยที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Hydrotrim” สำหรับสินค้าของจำเลยที่ 2 ในรายการสินค้าที่อยู่ในจำพวกเดียวกับที่โจทก์จดทะเบียนไว้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีว่า เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 491989 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 มีภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญคือ อักษรโรมันที่มีลักษณะประดิษฐ์ เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะระหว่างเครื่องหมายการค้า กับ จะมีจำนวนตัวอักษรเท่ากัน คือ 9 ตัว กับมีตัวอักษรตัวที่ 1, 3, 4 และ 5 เหมือนกัน อักษรตัวแรกแม้จะเหมือนกัน แต่การประดิษฐ์ลายเส้นของตัวอักษรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นการเขียนติดต่อกันระหว่างอักษรตัวที่ 1 และตัวที่ 2 จนเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ช่วยให้จดจำได้ง่าย ขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ตัวอักษรตัวแรกจะเป็นตัวอักษรโดดๆ ส่วนอักษรตัวที่ 2 จะติดต่อกับอักษรตัวที่ 3 ถึงที่ 5 ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีตัวอักษรตัวที่ 3 ถึงที่ 5 คล้ายกัน แต่ก็อยู่กึ่งกลางของคำไม่มีลักษณะเด่นในตัวเอง อักษรตัวที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวต้นของคำจึงมีลักษณะเด่นและมีความแตกต่างกันดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ส่วนตัวอักษรตัวที่ 6 ถึงที่ 9 นั้นแตกต่างกัน คือ ระหว่างอักษรโรมันคำว่า “lite” กับคำว่า “trim” และเมื่อพิจารณาโดยรวมทั้งเครื่องหมายซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ยังมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบด้วยก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าได้อย่างชัดเจน อนึ่ง การที่เครื่องหมายการค้ามีตัวอักษรเหมือนกันบางตัวเช่นนี้ยังไม่อาจถือได้ว่าเกิดจากการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าด้วยเจตนาไม่สุจริต เมื่อพิจารณาต่อไปถึงเสียงเรียกขานก็เห็นได้ว่ามีความเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก แต่ต่างกันในพยางค์สุดท้าย หากเรียกทั้งสามพยางค์แล้ว เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็จะมีความแตกต่างกัน และยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้บริโภคในสังคมจะเรียกหาสินค้าของโจทก์และจำเลยที่ 2 สั้นๆ เหมือนกันว่า “ไฮโดร” ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้ารวมตลอดถึงบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้าอาจเหมือนหรือคล้ายกัน คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าสิ่งที่สกัดจากพืชใช้เป็นอาหาร ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าอาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ แต่สินค้านี้มีราคาสูง ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพของบุคคล เชื่อว่าผู้บริโภคสินค้านี้จะศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ทั้งทำความเข้าใจอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การที่สินค้ามีขนาดบรรจุเท่ากันหรือมีราคาเท่ากันนับเป็นเรื่องของการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นเจตนาไม่สุจริตจงใจลอกเลียนสินค้าเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะระหว่างเครื่องหมายการค้า กับ จะเห็นได้ว่ายังมีความแตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะ เสียงเรียกขาน และจำพวกสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้า โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีอักษรโรมันจำนวน 13 ตัว โดยมีอักษรไทยคำว่า “ไฮโดรไลท์สลิม” กำกับอยู่ เสียงเรียกขานมี 5 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษรโรมันจำนวน 9 ตัว โดยมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบ เสียงเรียกขานมี 3 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการ อาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ ความแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ชัดเจน ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกัน สาธารณชนไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษกลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ