คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยจำเลยสละการครอบครองให้แล้ว และพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทเท่าที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่า ม. ยกที่พิพาทให้จำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 สมบูรณ์หรือไม่ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่น โจทก์ได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นข้อนี้ด้วยว่า พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใดคดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ล.1 มีรอยน้ำยาลบหมึกสีขาวลบชื่อผู้รับมรดกแล้วพิมพ์ใหม่เป็นชื่อจำเลย โดยมิได้มีผู้ทำพินัยกรรม พยานและกรรมการอำเภอลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658วรรคสอง จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ทำพินัยกรรมคือตกได้แก่โจทก์ซึ่งรับมรดกแทนที่บิดา กับตกได้แก่จำเลยซึ่งเป็นพี่บิดาโจทก์คนละครึ่ง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้โจทก์จึงได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลล่าง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายคำอ้ายและนางคำเอ้ยโดยบิดาโจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายใหม่และนางคำเมานางคำเมาถึงแก่กรรมไปก่อนนายใหม่ ส่วนบิดาโจทก์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2521 และต่อมานายใหม่ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อปี 2522ก่อนถึงแก่กรรมนายใหม่และนางคำเมามีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 32 ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่บิดาโจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่งแต่ก่อนนายใหม่ถึงแก่กรรมเพียง 3 วันได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวทะเบียนเลขที่ 856 เลขที่ดิน 230 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองโดยไม่สุจริต โดยจำเลยได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าได้รับการให้จากบิดามารดา และจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาประมาณ 5 ปีแล้ว ซึ่งความจริงนายใหม่และนางคำเมาไม่ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยหลังจากนายใหม่ถึงแก่กรรม จำเลยได้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาเมื่อโจทก์บรรลุนิติภาวะ โจทก์ได้ขอให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ถือสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และดำเนินการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยดำเนินการทางเจ้าพนักงานใส่ชื่อโจทก์ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย แล้วแบ่งแยกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษาหากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายคำอ้ายบิดาโจทก์ ระหว่างนายใหม่ บิดาจำเลยมีชีวิตอยู่นายใหม่มีสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 2 แปลง ก่อนนายใหม่ถึงแก่กรรม นายใหม่ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ลงวันที่29 พฤษภาคม 2521 ระบุยกที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 32 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ต่อมาภายหลังจากที่จำเลยดำเนินการรับมรดกตามพินัยกรรมแล้ว จำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 856 และจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยและสุจริตตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 856 เลขที่ดิน 230 ตำบลสันผักหวานอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ทางด้านทิศตะวันออกเพียงเท่าที่โจทก์ครอบครองอยู่ แต่ทั้งนี้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดให้แก่โจทก์ แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองหากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายใหม่ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย ล.1 ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่ากับฟังว่าพินัยกรรมสมบูรณ์ โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของพินัยกรรมจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะจำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยมิได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พิพากษาให้จำเลยดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพียงเท่าที่โจทก์ครอบครองอยู่ให้แก่โจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.1สมบูรณ์หรือไม่ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่น โจทก์ก็ได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นข้อนี้ด้วยว่า พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เพราะมีการแก้ไขชื่อผู้รับพินัยกรรมโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ประเด็นข้อนี้หายุติไปแล้วดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ประเด็นต่อไปมีว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.1มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เอกสารฉบับนี้มีรอยน้ำยาลบหมึกสีขาวลบชื่อผู้รับมรดกแล้วพิมพ์ใหม่เป็นชื่อจำเลยปรากฏอย่างชัดเจนโดยมิได้มีนายใหม่ผู้ทำพินัยกรรม พยานและกรรมการอำเภอลงลายมือชื่อกำกับไว้จึงทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 วรรคสอง จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายใหม่ ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งรับมรดกแทนที่นายคำอ้ายบิดากับตกได้แก่จำเลยซึ่งเป็นพี่นายคำอ้ายคนละครึ่ง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้โจทก์จึงได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share