คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้แก่การที่จำเลยซึ่งเป็นศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อเบิกเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องจากทางราชการแล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วม กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องจากโจทก์ร่วมนั้น เมื่อว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์อนุมัติให้จัดซื้อแล้ว โจทก์ร่วมได้ส่งมอบครุภัณฑ์ตามฟ้องให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อซึ่งกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ได้ตรวจรับครุภัณฑ์ตามฟ้องไว้โดยดีหลังจากนั้น สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อได้ทำเรื่องขอเบิกเงินไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบหลักฐานและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องได้จำเลยและกรรมการรับเงินจึงได้ไปรับเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องซึ่งจ่ายเป็นเช็ค แล้วนำเข้าบัญชีของสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อแสดงว่าในช่วงเวลาก่อนที่ขั้นตอนและหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องเสร็จสิ้นลง จำเลยมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายประการใดข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มอบเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องที่เบิกมาจากทางราชการให้แก่โจทก์ร่วม แม้ฟังว่าจำเลยทำเช่นนั้นจริงก็เป็นการกระทำภายหลังขั้นตอนการจัดซื้อเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงมิใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องกล่าวคือ จำเลยเบิกเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องจากทางราชการ แล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วม กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น แม้อาจถือได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบียดบังค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องเป็นของตนโดยทุจริตด้วยก็ตาม แต่เงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังไปนั้น เป็นเงินที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์จ่ายให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมอบหมายจำเลยเป็นผู้รับมอบเงินแทน ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวยังคงเป็นของทางราชการ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อไม่ปรากฏว่าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพราะเหตุที่ได้กระทำการดังกล่าวพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยข้อหายักยอกทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ มาตรา 264,268 ข้อหาละ 1 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก แต่เมื่อฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ขึ้นมาสู่ การพิจารณาของศาลฎีกา และการกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าว คือการเอาใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมไปและกรอกข้อความในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวบางฉบับ นำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่าได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้วนั้นเห็นได้ชัดว่าเพื่อประโยชน์ในการเอาเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องไปอันเป็นการกระทำที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 นั่นเอง ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,188, 264, 265, 268, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสนวัฒนาเพชรบูรณ์โดยนายแสน จกะวัฒนากุล หุ้นส่วนผู้จัดการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 188, 265, 268 วรรคสอง, 91 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดตามมาตรา 151 จำคุก 6 ปี ความผิดตามมาตรา 188 จำคุก 1 ปี ความผิดตามมาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อ และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้อง แล้ววินิจฉัยว่าปัญหาต่อไปที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตหรือไม่ในข้อนี้โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ต่าง ๆ ตามชนิดและราคาตามฟ้องรวมเป็นเงิน 52,900 บาทจากโจทก์ร่วม ซึ่งมีนายแสน จกะวัฒนากุล เป็นผู้จัดการ จำเลยได้แจ้งแก่นายแสนว่าจะทำเรื่องขอเบิกเงินงบประมาณจากทางราชการมาจ่ายให้เป็นค่าสินค้าหลังจากที่นายแสนได้มอบสินค้าดังกล่าวแล้วแต่เมื่อนายแสนส่งมอบสินค้าแล้ว จำเลยไม่นำเงินที่เบิกได้จ่ายให้แก่นายแสน กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเสียโดยทุจริต เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตได้แก่การที่จำเลยเบิกเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องจากทางราชการแล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วม กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแต่ได้ความจากนายบุญเรือง แตงก่อ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอกิ่งอำเภอเขาค้อและนางไพจิตร วงศ์ชูแก้ว เจ้าหน้าที่การเงินของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ พยานโจทก์เองว่าการดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องจากโจทก์ร่วมนั้นเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์อนุมัติให้จัดซื้อแล้ว โจทก์ร่วมได้ส่งมอบครุภัณฑ์ตามฟ้องให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อซึ่งกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ได้ตรวจรับครุภัณฑ์ตามฟ้องไว้โดยดีหลังจากนั้นสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อได้ทำเรื่องขอเบิกเงินไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบหลักฐานและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องได้ จำเลยและกรรมการรับเงินจึงได้ไปรับเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องซึ่งจ่ายเป็นเช็คแล้วนำเข้าบัญชีของสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อ ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าว แสดงว่าในช่วงเวลาก่อนที่ขั้นตอนและหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องเสร็จสิ้นลงนั้น จำเลยมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายประการใด ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มอบเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องที่เบิกมาจากทางราชการให้แก่โจทก์ร่วมนั้น แม้ฟังว่าจำเลยทำเช่นนั้นจริงก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังขั้นตอนการจัดซื้อเสร็จสิ้นไปแล้วจึงมิใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามฟ้องโดยทุจริต และแม้การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องดังกล่าว อาจถือได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการเบียดบังค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องเป็นของตนโดยทุจริตด้วยก็ตามแต่เงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังไปนั้นทางนำสืบของโจทก์เองปรากฏว่าเป็นเงินที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์จ่ายให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขาค้อเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วมและไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้รับมอบเงินแทน ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวยังคงเป็นของทางราชการ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อไม่ปรากฏว่าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพราะเหตุที่ได้กระทำการดังกล่าว พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหานี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และมาตรา 264, 268 ด้วยนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกทั้งสองข้อหา แต่เมื่อฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและการกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวคือ การเอาใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมไป และการกรอกข้อความในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวบางฉบับ นำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่าได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้วนั้น เห็นได้ชัดว่าเพื่อประโยชน์ในการเอาเงินค่าครุภัณฑ์ตามฟ้องไป อันเป็นการกระทำที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นั่นเอง ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวได้
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share