คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรกถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เป็นเกณฑ์ที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่มีอัตราโทษอย่างต่ำ การที่ศาลลงโทษจำคุก 6 ปี ลดแล้วเหลือ 3 ปี เป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จำเลยจะต้องรับ มิใช่เป็นโทษที่กฎหมายกำหนดว่าจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ ศาลลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ไม่เข้าหลักเกณฑ์จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกคนโดยสารด้วยความเร็วสูงโดยความประมาท เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำ คนโดยสารเป็นอันตรายแก่กายบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390, 300, 291, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 147
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390, 300, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคแรก บัญญัติว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ว่าแม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงคดีนี้จำเลยทำผิดมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดโทษขั้นต่ำไว้เลยทั้งการกำหนดโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จะถือว่าหนักกว่าจำคุกไม่ได้การที่ศาลลงโทษจำคุก 6 ปี ลดแล้วเหลือ 3 ปี เป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จำเลยจะต้องรับ มิใช่เป็นโทษที่กฎหมายกำหนดว่าจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่สืบพยานโจทก์ได้
ศาลจำคุกจำเลย 3 ปี ไม่เข้าหลักเกณฑ์จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
พิพากษายืน

Share