คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ส. ภรรยาจำเลยมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและรับเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วม ได้รับเงินสดค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมไว้แล้วไม่นำเงินสดที่รับไว้ส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ แต่เบียดบังเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม บัญชีกระแสรายวันของจำเลยมีรายการหมุนเวียนทางการเงินมากการนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีแต่ละรายการมีจำนวนมากกว่ารายได้ตามปกติของจำเลยและส.ส.นำเงินฝากเข้าบัญชีจำเลยช่วงระยะเวลาเดียวกับที่ ส.ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมและเมื่อส.นำเงินเข้าฝากแล้ว จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ ส. นำเข้าฝาก การถอนเงินโดยสั่งจ่ายเช็คบางฉบับจำเลยก็สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมตึกแถวที่จำเลยกับ ส. ไปติดต่อซื้อด้วยกัน โดยที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว มีราคาสูงเกินกว่าฐานะและรายได้ตามปกติของจำเลยกับ ส.ที่จะซื้อได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยได้รับเอาเงินฝากนั้นไว้ทุกคราวที่ ส.นำเข้าฝากโดยจำเลยรู้ว่าส. ได้เงินนั้นมาจากการยักยอกโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร ส. นำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยต่างวันเวลากัน จำเลยจึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าการบังคับคดี ส. ได้เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเท่าใด ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จะฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมหาได้ไม่และหากโจทก์ร่วมบังคับคดี ส.แล้วจะบังคับคดีจำเลยได้อีกเพียงใดนั้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และให้จำเลยคืน หรือใช้เงิน 1,235,380 บาทแก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน1,235,380 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานขับรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขณะเกิดเหตุได้รับเงินเดือนเดือนละ 4,140 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.35 และจำเลยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาตรอกจันทร์บัญชีเลขที่ 5571ตามสำเนาภาพถ่ายคำขอเปิดบัญชี เอกสารหมาย จ.20 และรายการบัญชีของจำเลยเอกสารหมาย จ.16 นางสุภา จิตมานะ ภรรยาจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกงานธุรการ ฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหาร เงินเดือนเดือนละ 4,970 บาทค่าครองชีพเดือนละ 1,693 บาท โจทก์ร่วมให้พนักงานทุกคนเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคาร แล้วโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินเดือนโดยโอนเงินเข้าบัญชีให้ นางสุภาได้เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเฉลิมนคร บัญชีเลขที่ 283-5ตามสำเนาภาพถ่ายรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.17 นางสุภามีหน้าที่จำหน่ายสินค้านมข้นหวานตราหมี รับเงินสด เช็ค และตั๋วแลกเงินที่ลูกค้านำมาชำระราคาค่าสินค้าให้โจทก์ร่วม แล้วรวบรวมทำบัญชีนำเงินส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ทุกวัน นางสุภาทำงานอยู่กับโจทก์ร่วมถึงวันที่ 7 มกราคม 2529 แล้วได้ละทิ้งงานหลบหนีไป
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาว่า นางสุภาได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนายอัษฎางค์ วาจีสิทธิ์ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ร่วมว่า หลังจากนางสุภาละทิ้งงานหลบหนีไปแล้ว ได้รับแจ้งจากผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหารของโจทก์ร่วมว่า นางสุภาได้ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปขอให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2527ถึงวันที่ 7 มกราคม 2529 นางสุภาได้รับเงินสดชำระราคาค่าสินค้าจากลูกค้าที่มาสั่งซื้อสินค้าโจทก์ร่วม นางสุภาได้ออกใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า ทั้งโจทก์ร่วมก็ได้ส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าตามที่สั่งซื้อแล้ว ในใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินมีข้อความระบุว่าลูกค้าชำระเงินสด แต่นางสุภาไม่นำเงินสดที่รับไว้รวบรวมทำบัญชีส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ นางสุภากลับนำเช็คและตั๋วแลกเงินของลูกค้ารายอื่นที่นำมาชำระค่าสินค้าตามใบสั่งซื้อฉบับอื่นมาทำรายงานส่งมอบให้แก่แคชเชียร์แทนเงินสดที่รับไว้นางสุภาได้กระทำหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยมารายละเอียดปรากฏตามใบสั่งซื้อ ใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน กับรายงานการเรียกเก็บเงินที่นางสุภาทำส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ ในเอกสารหมาย จ.9-จ.14ในที่สุดทำให้เงินชำระหนี้ค่าสินค้าตามใบสั่งซื้อ 45 ฉบับ ขาดไปคิดเป็นเงิน 3,591,169 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 นอกจากนี้ตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนางสุภาเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งโจทก์ร่วมได้โอนเงินเดือนจ่ายให้นางสุภาทุกเดือน ขณะเกิดเหตุนางสุภาได้รับเงินเดือนเดือนละ 4,971 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,693 บาทรวมเงินที่นางสุภาจะได้รับเป็นรายเดือนเดือนละ 6,664 บาทแต่ตามรายการนำเงินเข้าฝากในบัญชีเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่ามีจำนวนเงินนำเข้าฝากมากกว่ารายได้ตามปกติของนางสุภาเป็นจำนวนมากหลายรายการ มีเหตุให้น่าเชื่อว่านางสุภาได้เบียดบังเงินสดค่าสินค้าของโจทก์ร่วมไปเมื่อฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ดังกล่าวแล้ว เชื่อได้ว่านางสุภาซึ่งมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและรับเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วมได้รับเงินสดค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมไว้แล้ว นางสุภาไม่นำเงินสดที่รับไว้ส่งมอบให้แก่แคชเชียร์แต่เบียดบังเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจรตามฟ้องหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนายอัษฎางค์อีกว่าทราบว่านางสุภามีบ้านอยู่ในเขตยานนาวา ได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน พบว่านางสุภาซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 4 ชั้น มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528 ตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.15 จากการตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.16 ปรากฏว่ามีเงินฝากและถอนหมุนเวียนในบัญชีมากเกินกว่าฐานะและรายได้ของจำเลย ทั้งมีการนำเงินเข้าฝากที่ธนาคารต่างสาขาด้วย นายไพบูลย์ โอภาส พนักงานรับจ่ายเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาวรจักร พยานโจทก์เบิกความว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาวรจักร อยู่ใกล้กับสำนักงานของโจทก์ร่วมที่นางสุภาทำงานอยู่ สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 5 นาที นางสุภาได้นำเงินไปฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาวรจักรเพื่อผ่านไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาตรอกจันทร์ 20 กว่าครั้ง ตามสำเนาภาพถ่ายใบฝากเอกสารหมายจ.19 จำนวน 25 ฉบับ นายสนาน สุจีมา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตรอกจันทร์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยมาเปิดบัญชีกระแสรายวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2521ตามสำเนาภาพถ่ายคำขอเปิดบัญชีเอกสารหมาย จ.20 ธนาคารได้มอบเช็คให้จำเลยไปใช้ และจำเลยก็นำเช็คออกใช้เช่นกัน ตามเช็คเอกสารหมาย จ.21 สำหรับสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.18 (จำนวน9 แผ่น) เป็นเช็คที่ธนาคารมอบให้จำเลยไป จำเลยได้สั่งจ่ายและมีการเรียกเก็บเงินจากบัญชีของจำเลยไปแล้ว นอกจากนี้นางศิริพรเจือศรีกุล ผู้รับเหมาก่อสร้างตึกแถวขาย พยานโจทก์เบิกความว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2528 จำเลยและนางสุภาได้พากันไปจองซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 4 ชั้นไว้ 1 คูหา ราคา 1,200,000 บาท โดยใช้ชื่อนางสุภาเป็นผู้ซื้อ ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.23 และจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท เป็นค่ามัดจำไว้ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2528 จำเลยและนางสุภาได้พากันไปทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างตึกแถว ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.24 จำเลยก็ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 190,000 บาท ให้นางศิริพรเป็นค่าเงินดาวน์ตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.18 แผ่นที่ 7เช็คฉบับแรก หลังจากนั้นในวันที่ 5 และ 25 กรกฎาคม 2528 จำเลยและนางสุภาได้ไปจ่ายค่าเงินดาวน์อีกจำนวน 100,000 บาท และ140,000 บาท ตามลำดับ จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาตรอกจันทร์ เลขที่ 1906156 และเลขที่ 1906157 ตามที่ระบุไว้ในหลักฐานการชำระเงินในเอกสารหมาย จ.24 แผ่นที่ 2 รวมเป็นเงินที่จำเลยและนางสุภาได้ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมตึกแถวไว้แล้วจำนวน 480,000 บาท นางศิริพรได้โอนที่ดินพร้อมตึกแถวให้นางสุภาไป ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดเอกสารหมาย จ.15 โดยนางสุภาได้กู้เงินธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางคอแหลมเป็นเงิน 720,000 บาท นำไปชำระค่าที่ดินพร้อมตึกแถวที่เหลือให้นางศิริพร และนางสุภาได้จำนองที่ดินพร้อมตึกแถวนั้นเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ธนาคารดังกล่าว นายสมเกียรติ พิทักษ์วงศาผู้ช่วยหัวหน้าสินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางคอแหลมพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า นางสุภาได้นำที่ดินพร้อมตึกแถวไปจำนองเพื่อเป็นประกันเงินกู้จำนวน 720,000 บาท โดยจำเลยได้ให้ความยินยอมและได้รับมอบอำนาจจากนางสุภาให้ทำนิติกรรมแทนตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.15/2 และ จ.15/3 นางสุภาได้ผ่อนชำระหนี้ให้ธนาคารเดือนละ 12,600 บาท ประมาณ 3 ครั้งแล้วขาดการติดต่อไป จากการพิจารณาดูบัญชีกระแสรายวันของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.16 ปรากฏว่า มีรายการหมุนเวียนทางการเงินมากการนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีของจำเลยแต่ละรายการมีจำนวนเงินมากกว่ารายได้ตามปกติของจำเลยและนางสุภา การที่นางสุภาฝากเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาตรอกจันทร์ นั้น นางสุภานำเงินเข้าฝากที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาวรจักร ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานนางสุภา และรายการลงบัญชีเงินฝากในบัญชีของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.16 มีจำนวนเงินฝากตรงกับใบฝากเงินที่นางสุภานำเข้าฝากตามเอกสารหมาย จ.19ช่วงระยะเวลาที่นางสุภานำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลยดังกล่าวก็เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกับที่นางสุภายักยอกเงินของโจทก์ร่วมและเมื่อนางสุภานำเงินเข้าฝากแล้วจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีซึ่งมีรายการถอนเงินในบัญชีของจำเลยใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่นางสุภานำเข้าฝาก การถอนเงินโดยสั่งจ่ายเช็คบางฉบับจำเลยก็ได้สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมตึกแถวที่จำเลยกับนางสุภาไปติดต่อซื้อด้วยกัน โดยที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวมีราคาสูงเกินกว่าฐานะและรายได้ตามปกติของจำเลยกับนางสุภาที่จะซื้อได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยได้รับเอาเงินฝากนั้นไว้ทุกคราวที่นางสุภานำเข้าฝาก โดยจำเลยรู้ว่านางสุภาได้เงินนั้นมาจากการยักยอกโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจรซึ่งตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยได้รู้และรับเอาเงินฝากไว้ทุกคราวที่นางสุภานำเข้าฝาก เมื่อนางสุภานำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยต่างวันเวลากัน จำเลยจึงมีความผิดหลายกรรมต่างกันพยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้…ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้นางสุภาชำระเงินที่ยักยอกไปให้แก่โจทก์ร่วมแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 2796/2529 มีการบังคับคดียึดทรัพย์นางสุภา และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์วันที่ 22 เมษายน 2531 จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าการบังคับคดีนางสุภาได้เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเท่าใดครบถ้วนแล้วหรือไม่ จะฟังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมหาได้ไม่และหากโจทก์ร่วมบังคับคดีนางสุภาแล้วจะบังคับคดีจำเลยได้อีกเพียงใดนั้น ก็เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 17 กระทง ลงโทษแต่ละกระทงตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 742,660 บาท แก่โจทก์ร่วมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share