แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เล่นแชร์กับจำเลย 2 หุ้น หุ้นละ 300,000 บาท โจทก์ชำระค่าหุ้นงวดแรกและรับเช็คจากจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ขอยกเลิกการเล่นแชร์ และแจ้งว่าจำเลยสามารถคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกได้หุ้นละ 100,000 บาท จำเลยมีที่ดินจะขายในราคาไร่ละ 200,000 บาท หากสมาชิกรายใดต้องการที่ดิน จำเลยจะโอนชำระหนี้ให้ หากไม่ต้องการจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คหุ้นละ 200,000 บาท มอบให้ไว้ เมื่อจำเลยขายที่ดินได้แล้วจะนำเงินมาชำระหนี้ให้จำเลยนัดสมาชิกไปพบ โดยให้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปด้วย ในวันนัดโจทก์ให้ภริยาโจทก์ถือเช็คไปแทน จำเลยมอบเงินสดให้ภริยาโจทก์ 200,000 บาท ภริยาโจทก์คืนเช็คให้จำเลยแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ซึ่งเป็นไปตามประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันตามเงื่อนไขดังกล่าวการที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขายที่ดินได้แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาเจริญผล เลขที่ 3633472 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน400,000 บาท ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เป็นประกันหนี้ค่าแชร์ โดยตกลงว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามเช็คให้โจทก์ต่อเมื่อขายที่ดินได้จึงออกเช็คพิพาทไม่ลงวันที่ให้เป็นหลักประกันแต่โจทก์กลับนำเช็คพิพาทมาลงวันที่ 22 มีนาคม 2541 โดยไม่มีสิทธิ และยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินตามข้อตกลง เมื่อจำเลยยังขายที่ดินไม่ได้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นนายวงแชร์ ซึ่งจัดให้มีการเล่นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 มีสมาชิกวงแชร์ 23 หุ้น หุ้นละ 300,000 บาทกำหนดประมูลเดือนละครั้งโจทก์เป็นสมาชิกวงแชร์ของจำเลย 2 หุ้น เมื่อโจทก์ชำระค่าหุ้นงวดแรกแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญผล จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 310,000 บาท และ 305,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ให้แก่โจทก์ เมื่อประมูลแชร์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2541 แล้ว จำเลยขอยกเลิกการเล่นแชร์ โจทก์ยังประมูลแชร์ไม่ได้ ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาเจริญผล จำนวนเงิน 400,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่าย ตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์แทนเช็คเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2541 แล้วเรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คที่มิได้ลงวันที่สั่งจ่ายนั้น ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจึงได้แต่จะจดวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยมาพบโจทก์แจ้งขอยกเลิกการเล่นแชร์ และแจ้งว่าจำเลยสามารถคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกวงแชร์ได้หุ้นละ 100,000 บาทจำเลยมีที่ดินที่จังหวัดเชียงราย จะขายในราคาไร่ละ 200,000 บาท หากสมาชิกวงแชร์รายใดต้องการที่ดินดังกล่าวจำเลยจะโอนที่ดินชำระหนี้ให้ หากไม่ต้องการที่ดินจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คหุ้นละ 200,000 บาท มอบให้ไว้เมื่อจำเลยขายที่ดินได้แล้วจะนำเงินมาชำระหนี้ให้ จำเลยนัดสมาชิกวงแชร์ไปพบกันที่ภัตตาคาร โดยให้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปด้วย ในวันนัดโจทก์ให้ภริยาโจทก์ถือเช็คเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ไปแทน จำเลยมอบเงินสดให้แก่ภริยาโจทก์ 200,000 บาท ภริยาโจทก์คืนเช็คเอกสารหมาย ล.2 และล.3 ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ แม้โจทก์จะมิได้อ้างภริยาโจทก์มาเบิกความถึงข้อเท็จจริงในการรับเช็คพิพาทจากจำเลย แต่การที่ภริยาโจทก์เลือกรับเงินสดที่จำเลยจ่ายคืนหุ้นละ 100,000 บาท กับเช็คพิพาท โดยมิได้เลือกรับโอนที่ดินแทนค่าหุ้น และโจทก์เบิกความตอบคำถามติงว่า โจทก์ไม่รับเงื่อนไขที่จำเลยจะโอนที่ดินให้เพราะเห็นว่าเป็นราคาสูงกว่าท้องตลาด ก็เป็นเหตุผลให้เชื่อว่า ภริยาโจทก์จัดการรับเงินสดที่จำเลยจ่ายคืนกับเช็คพิพาทตามประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันตามเงื่อนไขที่จำเลยจะจ่ายเงินค่าหุ้นที่เหลือหุ้นละ 200,000 บาทเมื่อจำเลยขายที่ดินได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาท เป็นวันที่22 มีนาคม 2541 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายที่ดินได้แล้วถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง