คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4614/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าจะระบุว่า ถ้าอาคารที่เช่าเกิดอัคคีภัยขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตามมากน้อยเท่าใดก็ตาม สัญญาเช่านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันทีและผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันการเช่าได้ทั้งสิ้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร่างสัญญาเช่าดังกล่าวว่าเงื่อนไขของสัญญาเช่าในข้อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์ที่เช่ามิให้เกิดอัคคีภัยขึ้น ดังนั้น การตีความตามสัญญาต้องตีความตามเจตนาแท้จริงของคู่สัญญาคือเงินประกันความเสียหายดังกล่าวเป็นเงินที่วางไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทำความเสียหายให้เกิดแก่ทรัพย์ที่เช่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตรงกันว่าเหตุไฟไหม้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในขณะที่ทรัพย์ที่เช่าอยู่ในครอบครองของโจทก์ กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ โจทก์จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 โจทก์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2545 อัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน การชำระค่าเช่าโจทก์จะสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าเป็นรายปี จำนวน 12 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท ในปี 2544 โจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า ลงวันที่ 1 ของทุกเดือน ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเช็คไว้แทนจำนวน 12 ฉบับ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 จนถึงเดือนมีนาคม 2545 การทำสัญญาเช่าโจทก์ได้วางเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อประกันความเสียหายของตึกแถวที่เช่าอันเกิดจากความผิดของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์ทำสัญญาประกันวินาศภัยตึกแถวที่เช่าโดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันและให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์ ตลอดระยะเวลาที่เช่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยมิได้ผิดเงื่อนไขสัญญา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ได้เกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ตึกแถวที่เช่าบริเวณชั้นที่หนึ่ง และโจทก์ไม่สามารถใช้สอยตึกแถวที่เช่าส่วนที่เหลือได้จึงได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเช็คค่าเช่าที่ออกให้ล่วงหน้าในส่วนที่เหลือ 7 ฉบับ คือเช็คฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2544 ถึงเช็คฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2545 พร้อมเงินคาประกันความเสียหายจำนวน 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนเช็คทั้ง 7 ฉบับ กลับนำเช็คฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2544 ถึงเช็คฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2544 รวม 4 ฉบับ เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ นอกจากนี้ข้อความในสัญญาเช่าตึกแถวที่ว่า เมื่ออาคารที่เช่าเกิดอัคคีภัยไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม ผู้เช่าให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันการเช่าทั้งสิ้นยังขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับเช็คค่าเช่าร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 512,965.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ในชั้นตรวจรับคำฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนผู้รับเช็คไว้แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าจริง สัญญาเช่าข้อ 5 วรรคสอง ระบุว่า ถ้าอาคารที่เช่าเกิดอัคคีภัยขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตามมากน้อยเท่าใดก็ตาม สัญญาเช่านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันที และผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันการเช่าได้ทั้งสิ้น เงื่อนไขของสัญญาข้อนี้มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่เช่ามิให้เกิดอัคคีภัยขึ้นแก่ตึกแถวที่เช่า โจทก์ทราบถึงสาระสำคัญของเงื่อนไขดังกล่าวก่อนทำสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินประกัน สัญญาเช่าพิมพ์ขึ้นตามความตกลงของทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายใดบีบบังคับให้อีกฝ่ายทำสัญญา สัญญาเช่าไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ได้เกิดเพลิงไหม้ตึกแถวที่เช่า สัญญาเช่าจึงเป็นอันระงับสิ้นสุดลง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 529,291.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าประกันความเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่14 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินค่าเสียหาย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ในวันฟ้องก่อน (ฟ้องวันที่ 17 มีนาคม 2545) ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ริบเงินประกันความเสียหายจำนวน 300,000 บาท ของโจทก์ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายที่อยู่ในอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 โดยละเมิดอีกจำนวน 2 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท และชำระค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวจำนวน 400 บาท ค่าไฟฟ้าที่โจทก์ใช้ระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จำนวน 488 บาท ค่าใช้ไฟฟ้าระหว่างวันที่ 7 มกราคม ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จำนวน 46 บาท ค่าบรรจบมาตรวัดน้ำประปาจำนวน 107 บาท และค่าเสียหายของอาคารที่เช่าที่ถูกทุบทำลายและนำทรัพย์สินออกไปอีกจำนวน 90,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 255,291.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 53, 55 และ 57 ซอยเอกมัย 23 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2545 อัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท โจทก์จ่ายค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 เป็นรายปีโดยสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า ลงวันที่ 1 ของทุกเดือนจำนวน 12 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท ในการทำสัญญาเช่าโจทก์ชำระค่าประกันความเสียหายให้จำเลยที่ 1 ได้เป็นเงิน 300,000 บาท และทำสัญญาประกันภัยตึกแถวที่เช่าและทรัพย์สินของโจทก์ที่อยู่ในตึกแถวที่เช่ากับบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ตึกแถวที่เช่าเกิดเพลิงไหม้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่าประกันความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาเช่าข้อ 5 วรรคสอง จะระบุว่า ถ้าอาคารที่เช่าเกิดอัคคีภัยขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม มากน้อยเท่าใดก็ตาม สัญญาเช่านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันที และผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันการเช่าได้ทั้งสิ้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 และคำเบิกความของนางสาวสายสุนีย์หรือนางสาวณัฐธยาน์ พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ร่างสัญญาเช่าดังกล่าวว่า เงื่อนไขของสัญญาเช่าในข้อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์ที่เช่ามิให้เกิดอัคคีภัยขึ้น ดังนั้น การตีความตามสัญญาต้องตีความตามเจตนาแท้จริงของคู่สัญญาคือ เงินประกันความเสียหายดังกล่าวเป็นเงินที่วางไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทำความเสียหายให้เกิดแก่ทรัพย์ที่เช่า คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตรงกันว่า เหตุไฟไหม้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในขณะที่ทรัพย์ที่เช่าอยู่ในครอบครองของโจทก์ กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพโจทก์จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแค่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายคือจำเลยที่ 1 โจทก์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายจำนวน 300,000 บาท ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่จำต้องรับผิดชำระค่าที่อยู่ในอาคารที่เช่าภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม่เป็นเงิน 100,000 บาท เพราะเป็นการอยู่เพื่อรอผลการตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้และค่าเสียหาย ส่วนค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราว เป็นเงิน 400 บาท ค่าไฟฟ้าภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นเงิน 534 บาท และค่าบรรจบมาตรวัดน้ำประชา เป็นเงิน 107 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับประโยชน์และค่าเสียหายเนื่องจากอาคารที่เช่าถูกทุบทำลายเป็นเงิน 90,000 บาท มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของโจทก์ตามฟ้องแย้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 191,041 บาท นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งการพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาว่าจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องพิจารณาส่วนของฟ้องแย้งแยกต่างหากจากส่วนของฟ้องเดิม เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องแย้งไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาของโจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนของฟ้องแย้งโจทก์มิได้เสียมาด้วยจึงไม่จำต้องสั่งคืน

Share