คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4680/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเงินที่ชำระราคาในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทดังที่หนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาขายที่ดิน ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อ เป็นเงินของบิดาจำเลย ไม่ใช่เงินของจำเลยหรือของโจทก์คู่สมรส เป็นเพียงการนำสืบอธิบายให้เห็นถึงข้อความจริงเกี่ยวกับเงินที่ซื้อที่ดินดังกล่าวว่าเป็นของใครจำนวนเท่าใด เพื่อให้ศาลจะได้วินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินดังกล่าวซึ่งมีชื่อจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้มีชื่อมานั้นเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวอันเป็นประเด็นข้อพิพาทโดยตรงในคดีเท่านั้น จึงมิได้เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความใดในเอกสารสัญญาและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 35873, 35874, 35875 ตำบลสบตุ๋ย (เชียงราย) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 ตามใบสำคัญการสมรส ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 35873, 35874, และ 35875 ตำบลสบตุ๋ย (เชียงราย) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ปรากฏหลักฐานตามสารบัญจดทะเบียนว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อจากนางศรีนวล เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2531 ตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน ก่อนคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยขอลงชื่อเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นคดีหมายเลขดำที่ 100/2546 ของศาลชั้นต้น แล้วถอนฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ตามสำเนาภาพถ่ายคำฟ้องและคำร้องขอถอนฟ้อง นอกจากนี้จำเลยได้ฟ้องโจทก์ขอหย่าและแบ่งสินสมรสเป็นคดีหมายเลขดำที่ 147/2546 หมายเลขแดงที่ 58/2547 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวโจทก์จำเลยสามารถตกลงกันได้ ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงจะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันคดีดังกล่าวถึงที่สุด ปัจจุบันโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหนังสือสัญญาซื้อขายและหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยเสนอ เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต้องห้ามมิให้รับฟังหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเงินที่ชำระราคาในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทดังที่หนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาขายที่ดินระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อ เป็นเงินของบิดาจำเลยไม่ใช่เงินของจำเลยหรือของโจทก์คู่สมรส เป็นเพียงการนำสืบอธิบายให้เห็นถึงข้อความจริงเกี่ยวกับเงินที่ซื้อที่ดินดังกล่าวว่าเป็นของใคร จำนวนเท่าใด เพื่อให้ศาลจะได้วินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินดังกล่าวซึ่งมีชื่อจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้มีชื่อมานั้นเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวอันเป็นประเด็นข้อพิพาทโดยตรงในคดีเท่านั้น จึงมิได้เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความใดในเอกสารสัญญาและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ที่ดินทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสอันมีเอกสารเป็นสำคัญที่โจทก์มีสิทธิขอลงชื่อร่วมหรือไม่และเนื่องเพราะข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินทรัพย์พิพาทมีชื่อจำเลยซื้อมาในระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคู่สมรสกัน หน้าที่นำสืบจึงตกแก่ฝ่ายจำเลยต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าที่ดินทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสคดีได้ความตามท้องสำนวนว่า นายไพบูลย์ บิดาของจำเลยประกอบกิจการค้าขายมานานจนเป็นคนมีฐานะร่ำรวยในจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2528 โจทก์กับจำเลยเพิ่งสมรสกัน โดยในการจดทะเบียนสมรสมีการทำสัญญาก่อนสมรสระบุไว้ว่าสินเดิม (สินส่วนตัว) ของจำเลยได้แก่ที่ดินหลายแปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 8008, 24412 และ 24417 ที่ได้มาตามสัญญาขายที่ดินซึ่งเมื่อพิจารณาตามรายละเอียดสัญญาขายที่ดินดังกล่าวที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลงเหล่านี้ในตำบลเชียงราย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ราคา 600,000 บาท เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2522 อันเป็นเวลาที่จำเลยยังอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนจึงมีเหตุผลชวนให้เชื่อตามทางนำสืบของจำเลยว่าบิดาของจำเลยซื้อที่ดินเก็บไว้เป็นทรัพย์สินจำนวนมาก กับทั้งเมื่อซื้อมาก็จะใส่ชื่อจำเลยบุตรชายคนเดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วย สำหรับที่ดินทรัพย์พิพาททั้งสามแปลงแบ่งแยกออกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ คือโฉนดเลขที่ 6947 ตำบลหัวเวียง (เชียงราย) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งจำเลยนำสืบโดยมีพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเบิกความที่สำคัญคือ นางศรีนวลหรือตวงทอง และนางปิยนาถ ผู้มีชื่อปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินดังกล่าวและในโฉนดที่ดินพิพาท รวมทั้งส่งหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทและหนังสือมอบอำนาจ โดยนางศรีนวลเบิกความว่า เดิมพยานและนายไพบูลย์บิดาของจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่คือที่ดินโฉนดเลขที่ 6947 ร่วมกัน โดยส่วนของบิดาของจำเลยใส่ชื่อจำเลยไว้ตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินแล้วต่อมาได้มีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย เป็นที่ดินพิพาททั้งสามแปลงด้วยที่มีชื่อพยานเป็นเจ้าของตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินหลังจากนั้นพยานนำที่ดิน 5 แปลง ซึ่งรวมที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเหล่านี้ไปจำนองแก่นางปิยนาถ ต่อมานายไพบูลย์ได้ขอซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากพยานและนายไพบูลย์นำเงินไปชำระแก่นางปิยนาถพยานจึงลงชื่อมอบอำนาจให้ไปโอนกรรมสิทธิ์ โดยพยานยืนยันว่าจำเลยไม่เคยติดต่อเกี่ยวข้องหรือเข้าเจรจาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเหล่านี้กับพยาน ส่วนนางปิยนาถก็เบิกความว่า หลังจากรับจำนองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวไว้จากนางศรีนวล ต่อมามีนายหิรัญ น้องชายนายไพบูลย์บิดาของจำเลยมาสอบถามเกี่ยวกับยอดหนี้ หลังจากนั้นจึงทราบว่านางศรีนวลขายที่ดินพิพาทให้นายไพบูลย์และนายไพบูลย์นำเงินตามยอดหนี้มาชำระให้พยานแล้วให้พยานเป็นผู้รับมอบอำนาจทั้งฝ่ายนางศรีนวลและผู้ขายและฝ่ายนายไพบูลย์ซื้อ ไปดำเนินการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งนายไพบูลย์ให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและหนังสือมอบอำนาจ โดยพนานเบิกความรับรองว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายที่ดินดังกล่าวด้วย ย่อมเห็นได้ว่าพยานจำเลยทั้งสองปากนี้เบิกความสอดคล้องกันมีเหตุผลรับสมกับข้อนำสืบตามคำเบิกความของจำเลย เพราะเมื่อประกอบกับลักษณะของเหตุการณ์ซึ่งมิได้แตกต่างจากขณะที่บิดาของจำเลยเข้าซื้อที่ดินแปลงใหญ่โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2531 ที่ซื้อขายกันนี้จำเลยเพิ่งจบการศึกษามาช่วยบริหารกิจการค้าขายของบิดาได้เพียงประมาณ 3 ถึง 4 ปี ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันก็เป็นเงินถึงกว่าครึ่งล้านบาท มิใช่เงินเล็กน้อย แม้นางปิยนาถจะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าเงินที่นายไพบูลย์นำไปจ่ายให้นั้นไม่ทราบว่าเป็นของนายไพบูลย์หรือของจำเลย เข้าใจเองว่าเป็นของนายไพบูลย์ แต่นางปิยนาถก็รับรองว่าผู้มาติดต่อซื้อขายคือนายไพบูลย์มิใช่จำเลย กับทั้งยืนยันว่านายไพบูลย์เป็นผู้ชำระเงินแก่ตนจึงน่าเชื่อว่าเงินที่ชำระดังกล่าวเป็นของนายไพบูลย์เอง แล้วนายไพบูลย์ให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อดังคำเบิกความของนางปิยนาถ เพราะตรงกันข้ามหากตามความจริงโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้ซื้อ โจทก์หรือจำเลยก็น่าจะเป็นผู้ไปติดต่อกับนางปิยนาถและนางศรีนวลเอง ที่สำคัญโจทก์หรือจำเลยย่อมต้องไปดำเนินการทำนิติกรรมด้วยตนเอง ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องให้บิดาของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการติดต่อหรือให้นางปิยนาถรับมอบอำนาจไปทำนิติกรรมแทน คดีเชื่อได้ตามข้อนำสืบของจำเลยว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเหล่านี้นายไพบูลย์บิดาของจำเลยเป็นผู้ซื้อด้วยเงินของนายไพบูลย์เองแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวและเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นโดยจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวตลอดมาจึงย่อมเข้ากรณีเป็นการที่นายไพบูลย์บิดาของจำเลยซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงนี้โดยเจตนายกให้แก่จำเลยโดยเสน่หาดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ข้อนำสืบของจำเลยจึงหาได้ขัดกับคำให้การดังที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งไว้อย่างใดไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรเชื่อถือรับฟังคำเบิกความของนางศรีนวลและนางปิยนาถเพราะต่างเบิกความเข้าด้วยช่วยกับฝ่ายจำเลยเนื่องจากพยานทั้งสองสนิทสนมกับบิดาของจำเลยและต่างสมประโยชน์ในการชำระราคาซื้อขายครั้งดังกล่าวนั้น เห็นว่า เป็นการคาดคะเนนึกคิดของโจทก์เองโดยปราศจากหลักฐานสนับสนุน เพราะตรงกันข้ามโจทก์เองเคยฟ้องจำเลยขอใส่ชื่อร่วมในที่ดินพิพาทเหล่านี้มาแล้ว และถอนฟ้องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่โจทก์ถอนฟ้องไปนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จะมีการตกลงและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการตกลงเรื่องที่ดินพิพาทสามแปลงนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความเลยทั้งที่ขณะนั้นโจทก์ก็ทราบดีว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ ซึ่งหากเป็นที่ดินที่โจทก์จำเลยซื้อร่วมกันดังข้อฎีกาที่โจทก์อ้างถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็น่าจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานดังเห็นได้จากแม้แต่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งมีการพิพาทกันว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ และมีการฟ้องร้องกันแล้วก็ยังมีการบันทึกว่าให้รอฟังผลคดีดังกล่าวถึงที่สุดก่อน นอกจากนั้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็มีการตกลงเรื่องเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีความเรื่องต่างๆ โดยละเอียด จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่มีการตกลงเรื่องที่ดินพิพาทให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน น่าเชื่อว่าโจทก์เองก็ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวนี้บิดาของจำเลยเป็นผู้ซื้อโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผูเดียว จึงไม่มีการตกลงเรื่องที่ดินเหล่านี้ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมคามดังกล่าว สำหรับข้อฎีกาประการอื่นของโจทก์ไม่มผลทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share