แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งทางปกครองของฝ่ายบริหาร การที่ศาลจะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของฝ่ายบริหารได้นั้น ข้อสำคัญข้อหนึ่งคือ การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการออกโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนและออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การลงโทษทางวินัยกับความรับผิดในทางอาญานั้นต้องแยกออกจากกัน การถูกลงโทษทางวินัยตามข้อกล่าวหานั้นอาจไม่เป็นความผิดทางอาญาก็ได้ ไม่จำเป็นว่าการลงโทษทางวินัยจะต้องเป็นความผิดทางอาญาเสมอไป คดีนี้ประการแรกโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างเลยว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เพียงแต่โต้แย้งข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ แต่โจทก์ก็ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลอาญาข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์และคดีถึงที่สุดแต่คำพิพากษาดังกล่าวก็มีข้อเท็จจริงที่พัวพันกับตัวโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจลงโทษโจทก์ตามพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า การกระทำของโจทก์ตกอยู่ในกรณีมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนโดยมิได้ลงโทษกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์แต่อย่างใด การออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการออกคำสั่งโดยใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 472/2542 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 และให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งใหม่ให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกัน กับให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับเงินเดือนย้อนหลังนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 472/2542 เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่โจทก์มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันมีคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนย้อนหลังไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 472/2542 คือวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 และดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการซึ่งถูกสั่งให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก จากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้าราชการซึ่งถูกสั่งให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการแล้วต่อมาได้รับการพิจารณายกโทษ พ.ศ.2523 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าเดิมจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาลใช้ชื่อว่า กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและมีอำนาจพิจารณาการร้องทุกข์ การอุทธรณ์และการกลับเข้ารับราชการของข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2521 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 โจทก์เคยรับราชการตำรวจในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พลาธิการ กองปราบปราม วันที่ 20 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ โดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน โจทก์ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโจทก์ พนักงานอัยการยื่นฟ้องโจทก์ ข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลอาญาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1814/2539 ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาศาลอาญาพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.15 พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดตามสำเนาใบสำคัญคดีถึงที่สุดเอกสารหมาย จ.16 ในการดำเนินการทางวินัย จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 903/2538 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2538 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการโดยมีพันตำรวจโททรงชัย เทพสาร เป็นประธานตามสำเนาเอกสารหมาย จ.18 และจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 904/2538 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2538 ให้โจทก์ออกจากราชการไว้ก่อน ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.19 คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยต้องหาคดีอาญาข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะอันเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งโจทก์ได้ทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 และโจทก์ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามสำเนาบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาตามข้อ 15 เอกสารหมาย จ.29 คณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนพยานบุคคลและพยานเอกสารแล้วได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอไปยังอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น โดยสรุปความเห็นว่า จากการสอบสวนยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดและมีมติว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ได้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน เห็นควรยุติเรื่องตามสำเนารายงานการสอบสวนเอกสารหมาย จ.34 และส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณา จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เห็นควรให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ส่งเรื่องให้อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย คณะที่ 1 พิจารณาโดยไม่ได้มีการสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเห็นสมควรให้ไล่ออกจากราชการ ซึ่งในระหว่างที่อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย คณะที่ 1 พิจารณานั้น ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องยกฟ้องคดีดังกล่าวซึ่งโจทก์ได้รายงานผลคดีอาญาไปยังอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย คณะที่ 1 คณะกรรมการข้าราชการตำราจและจำเลยที่ 1 ทราบ แต่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 472/2542 สำเนาเอกสารหมาย จ.23 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องทุกข์ตามอุทธรณ์คำสั่งเอกสารหมาย จ.24 ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า คำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการถูกต้องเหมาะสมแล้วอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น และมีมติให้รายงานจำเลยที่ 2 เพื่อพิจารณาสั่งการโดยเห็นควรยกอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.27
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ 472/2542 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองของฝ่ายบริหาร การที่ศาลจะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของฝ่ายบริหารได้นั้น ข้อสำคัญข้อหนึ่งคือ การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการออกโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนและออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้โจทก์อ้างเหตุที่ขอให้เพิกถอนคือ
1. คณะกรรมการสอบสวนซึ่งจำเลยที่ 1 แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 903/2538 ได้ทำการสอบสวนพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารจนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามข้อกล่าวหา มิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน จึงมีความเห็นให้ควรยุติเรื่องและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์เพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1 พิจารณาโดยมิได้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมและมีความเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของโจทก์เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 98 วรรคสอง จึงมีความเห็นควรไล่โจทก์ออกจากราชการ และได้เสนอเรื่องให้อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย คณะที่ 1 พิจารณาโดยมิได้ทำการสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้วมีมติลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ
2. พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว
ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาทั้ง 2 ประการนั้น คือ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถออกคำสั่งลงโทษโจทก์ได้ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า การลงโทษทางวินัยกับความรับผิดในทางอาญานั้นต้องแยกออกจากกัน การถูกลงโทษทางวินัยตามข้อกล่าวหานั้นอาจไม่เป็นความผิดทางอาญาก็ได้ ไม่จำเป็นว่าการลงโทษทางวินัยจะต้องเป็นความผิดทางอาญาเสมอไป คดีนี้ประการแรกโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างเลยว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เพียงแต่โต้แย้งข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ แต่โจทก์ก็ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลอาญาข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์และคดีถึงที่สุด แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็มีข้อเท็จจริงที่พัวพันกับตัวโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจลงโทษโจทก์ตามพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าการกระทำของโจทก์ตกอยู่ในกรณีมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน โดยมิได้ลงโทษกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์แต่อย่างใด การออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการออกคำสั่งโดยใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน