คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145
โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด
ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน และปรับ 18,000 บาท ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ เห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 10 เดือน และปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา โดยให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจออกจากระยะเวลาดังกล่าว หากจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์เหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใดให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ขอศาลได้โปรดออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแทนค่าปรับต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 มิได้ห้ามมิให้ยึดทรัพย์แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับในการบังคับคดีเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนไม่มีเงินเสียค่าปรับ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องหลังจากลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา โดยให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจออกจากระยะเวลาดังกล่าว หากจำเลยมีอายุยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ เหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใดให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับ แต่ไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 นั้น โจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์ใช้สิทธิขอบังคับโทษค่าปรับจากจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และ 30/3 ได้เพราะกรณีนี้จำเลยยังไม่มีการชำระค่าปรับและศาลยังมิได้อนุญาตให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ โดยขอออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่าหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสามดังกล่าว หมายถึงกรณีกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กคือ หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนค่าปรับตามวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยมีอายุยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ เหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใดให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ และหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ เห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน
พิพากษายืน แต่หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ และหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ 1 ปี

Share