แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้นถ้าไม่มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คงมีแต่คำรับผิดในชั้นสอบสวนเท่านั้นก็ไม่เข้าเกณฑ์มาตรานี้
คดีรถชนกัน การที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบและทำเอกสารไว้เป็นหลักฐานว่าเรื่องที่เกิดขึ้นโดยจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ โดยจะไปทำความตกลงกันที่อู่ซ่อมรถถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมยอมความกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 ซึ่งผูกมัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้โต้แย้งว่าตนมิได้ขับรถโดยประมาทได้ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถและนายจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกผูกมัดด้วย ศาลจะต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่อไปว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท.
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และเป็นเจ้าของรถยนต์ ได้ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ขับรถไปในธุระของตนและตนไปด้วย รถจำเลยขับตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ ทำให้ชนกันและรถโจทก์เสียหาย พนักงานสอบสวนได้มาดูที่เกิดเหตุและสอบสวนคีดเรื่องนี้ แล้วลงรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเปรียบเทียบเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ยินยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยจะไปทำความตกลงกันที่อู่ซ่อมรถพนักงานสอบสวนสั่งปรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ และโจทก์เซ็นชื่อเป็นผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ เซ็นชื่อเป็นผู้ต้องหา ต่อมาจำเลยไม่ซ่อมรถหรือใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมหรือแทนกันใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับคดีอาญา ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคดีอาญา ซึ่งคดีนี้ถึงที่สุดชั้นพนักงานสอบสวน โดยจำเลยรับสารภาพผิดว่าได้ประมาทเลินเล่อจริง พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงินให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่กรณีเรื่องนี้หาได้มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่ คงมีแต่คำรับผิดของจำเลยที่ ๑ ในชั้นสอบสวนเท่านั้น จึงไม่เข้าเกณฑ์ของมาตรานี้ แต่การที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบทำเอกสารไว้เป็นหลักฐานว่าเรื่องที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายจำเลยที่ ๑ ได้ยินยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยจะไปทำความตกลงกันที่อู่ ถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ซึ่งผูกมัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จะมาโต้แย้งว่าตนมิได้ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่ส่วนจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นเจ้าของรถไม่ปรากฎว่าได้ยินยอมรับผิดไว้ด้วยไม่ จึงฟังผูกมัดจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ ศาลจะได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่อไปว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทเสียก่อน
ในที่สุดพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น