แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 จะไม่ได้แจ้งไว้ในแบบแสดงรายการที่ยื่นว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ฉบับที่สอง จึงถือว่าการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนี้ มาตรา 84 มิให้นำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีมาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ให้สิทธิในการขอคืนภาษีได้เท่านั้น โจทก์จะต้องนำภาษีมาชำระพร้อมยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แม้โจทก์มีภาษีที่ชำระเกินยกมาจากเดือนมิถุนายน 2540 จำนวน 50,561.91 บาท แต่โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนพิพาทจำนวน 5,050.72 บาท โจทก์จะนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพราะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามมาตรา 83/4 ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประเมินภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่ง ป. รัษฎากร จำนวน 17,434.58 บาท โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวของจำเลย จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว กรณีจึงไม่มีประเด็นพิจารณาว่าโจทก์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) จำนวน 505.07 บาท หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,050.72 บาท พร้อมเบี้ยปรับจำนวน 505.07 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 มียอดภาษีซื้อผิดพลาดโดยนำยอดซื้อที่ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นภาษีซื้อได้ โดยโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการขอแก้ไขเองก่อนกำหนดชำระภาษีในงวดถัดไป แสดงว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด จึงสมควรให้อภัยโดยงดเบี้ยปรับให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มลงรายการยอดซื้อที่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักไว้จำนวน 2,687,902.44 บาท ซึ่งคลาดเคลื่อนไป เพราะนำเอายอดที่ไม่มีสิทธิหักภาษีซื้อมารวมไว้ด้วย จำนวน 2,490,654.21 บาท เมื่อโจทก์จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม โจทก์จึงควรนำยอดขายลบด้วยยอดซื้อที่แท้จริงเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติม การที่โจทก์คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมด้วยการนำเอายอดซื้อซึ่งไม่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีจำนวน 2,490,654.21 บาท ไประบุว่าเป็นยอดขายและยอดขายที่ต้องเสียภาษี จึงเป็นการลงรายการที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางปรับปรุงรายการแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเสียใหม่ด้วยการนำภาษีซื้อจากยอดซื้อ ที่ถูกต้องนำไปหักจากภาษีขายเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์สำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม 2540 จำนวน 210,086 บาท และงดเบี้ยปรับภาษีที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์สำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม 2540 เสียทั้งสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 1001010/5/100279 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 330/2541/สภ.1 (กม.2) เป็นให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 5,050.72 บาท เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) จำนวน 505.07 บาท เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) จำนวน 17,434 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีจำนวน 5,050.72 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระจำนวนดังกล่าวแล้ว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้จากคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนภาษีกรกฎาคม 2540 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2540 มียอดขาย 269,401.43 บาท ภาษีขาย 18,858.10 บาท ยอดซื้อ 2,687,902.44 บาท ภาษีซื้อ 188,153.17 บาท ไม่มีภาษีที่ต้องชำระในเดือนนี้ ภาษีที่ชำระเกิน 169,295.07 บาท ภาษีที่ชำระเกินยกมาจากเดือนภาษีมิถุนายน 2540 จำนวน 50,561.91 บาท ภาษีสุทธิที่ชำระเกิน 219,856.98 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 53 ต่อมาโจทก์ตรวจพบความผิดว่า โจทก์นำยอดซื้อมายื่นแบบเกินไปความผิดพลาดในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเอง ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นได้ว่า กรณีเช่นเดียวกับของโจทก์ จำเลยเคยพิจารณางดเบี้ยปรับให้แก่ผู้เสียภาษีรายอื่นมาแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีภาษีที่ชำระเกินยกมาจากเดือนภาษีมิถุนายน 2540 จำนวน 50,561.91 บาท แต่โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนพิพาทจำนวน 5,050.72 บาท โจทก์จึงชอบที่จะหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินภาษีที่ชำระเกินยกมานั้นได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 84 นั้น เห็นว่า แม้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 จะไม่ได้แจ้งไว้ในแบบแสดงรายการที่ยื่นว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ฉบับที่สอง จึงถือว่าการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ของโจทก์เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83/4 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนี้ มาตรา 84 มิให้นำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีมาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ให้สิทธิในการขอคืนภาษีได้เท่านั้น ดังนั้นโจทก์จะต้องนำภาษีมาชำระพร้อมยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 โจทก์จะนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพราะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามมาตรา 83/4 ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประเมินภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่ม และเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่ง ป.รัษฎากร จำนวน 17,434.58 บาท โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวของจำเลย จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว ดังนี้ กรณีจึงไม่มีประเด็นพิจารณาว่าโจทก์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) แห่ง ป.รัษฎากร จำนวน 505.07 บาท หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,050.72 บาท พร้อมเบี้ยปรับจำนวน 505.07 บาท เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นจึงไม่ชอบ
การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 มียอดภาษีซื้อผิดพลาดโดยนำยอดซื้อที่ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นภาษีซื้อได้ โดยโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการขอแก้ไขเองก่อนกำหนดชำระภาษีในงวดถัดไป แสดงว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด เห็นสมควรให้อภัยโดยงดเบี้ยปรับให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงรายการข้อ 6 ยอดซื้อที่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักไว้จำนวน 2,687,902.44 บาท ซึ่งคลาดเคลื่อนไป เพราะนำเอายอดที่ไม่มีสิทธิหักภาษีซื้อมารวมไว้ด้วยจำนวน 2,490,654.21 บาท เมื่อโจทก์จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม โจทก์จึงควรนำยอดขายลบด้วยยอดซื้อที่แท้จริงเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติม การที่โจทก์คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมตามที่ปรากฏในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยการนำเอายอดซื้อซึ่งไม่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีจำนวน 2,490,654.21 บาท ไประบุว่าเป็นยอดขาย และยอดขายที่ต้องเสียภาษี จึงเป็นการลงรายการที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางปรับปรุงรายการแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเสียใหม่ด้วยการนำภาษีซื้อจากยอดซื้อที่ถูกต้องนำไปหักจากภาษีขายเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเฉพาะที่พิพากษาให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) แห่ง ป.รัษฎากร จำนวน 505.07 บาท กับให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะเบี้ยปรับจำนวน 17,434.58 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.