แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบรับเงินที่มีข้อความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายเงินเดือน ค่าเสียหายแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า กับค่าชดเชย ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วและไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดจากจำเลยอีก ใบรับเงินฉบับนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลผูกพันโจทก์ว่าหลังจากโจทก์ได้รับเงินทั้งสามจำนวนอันเป็นเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว โจทก์สละสิทธิที่จะเรียกเงินอื่นใดตามกฎหมายซึ่งมีความหมายรวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันไม่ใช่เงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 5,533,613.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 501,488 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ใบรับเงิน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย มีผลให้สิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า หลังจากจำเลยมีหนังสือแจ้งการเลิกจ้างโจทก์ ในวันเดียวกัน นายสุขสันต์ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากจำเลยให้นำใบรับเงินให้โจทก์ลงลายมือชื่อ โจทก์เบิกความว่า รู้สึกตกใจมากเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าจะถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงแจ้งว่าขอเวลาคิดดูก่อน นางอรพินท์ ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการของจำเลยพูดกับโจทก์ว่าถ้าไม่ยอมลงลายมือชื่อจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินที่ระบุไว้ในหนังสือฉบับนี้ และจะต้องไปฟ้องคดีต่อศาลเอาเอง โจทก์ก็ยังไม่ลงลายมือชื่อและกลับบ้าน หลังจากนอนคิดหนึ่งคืนโจทก์ตัดสินใจไปลงลายมือชื่อในใบรับเงินเพื่อรับเงินมาใช้จ่ายในระหว่างว่างงาน แสดงให้เห็นว่าการที่โจทก์ตัดสินใจไปลงลายมือชื่อในใบรับเงินหลังวันเลิกจ้างเป็นไปโดยความสมัครใจของโจทก์ เมื่อใบรับเงินดังกล่าวมีข้อความใน วรรคสองว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายเงินผลประโยชน์แก่โจทก์ดังนี้ เงินเดือนสำหรับเดือนพฤศจิกายน 31,343 บาท ค่าเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,343 บาท กับค่าชดเชย 300 วัน เท่ากับ 313,430 บาท รวมเป็นเงิน 376,116 บาท วรรคท้ายมีข้อความว่าโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วและไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดจากจำเลยอีก โดยลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินต่อหน้าพยานสองคนย่อมถือได้ว่าใบรับเงินฉบับนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลผูกพันโจทก์ว่าหลังจากโจทก์ได้รับเงินสามจำนวนข้างต้นอันเป็นเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานครบถ้วนแล้ว โจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดตามกฎหมาย ซึ่งมีความหมายรวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันมิใช่เงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามคำฟ้องจากจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง