แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกขณะปฏิบัติงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ไปเข้ารับการบริการทางการแพทย์ได้ และอาการป่วยดังกล่าวถือได้ว่ามีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้สำหรับโจทก์และเป็นกรณีที่จำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉิน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกินเจ็ดสิบสองชั่วโมงตามที่ระบุไว้ในประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินจำนวน 140,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 203/2547 และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จำนวน 140,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (วันที่ 7 กรกฎาคม 2547) จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอกเป็นกรณีจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉินหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์แม้จะปรากฎตามใบรับรองแพทย์ว่าโจทก์พักรักษาเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่สัญญาณชีพของโจทก์และคลื่นไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ และแพทย์ได้นัดหมายล่วงหน้า จึงไม่ได้มีอาการรุนแรงที่จะเป็นกรณีฉุกเฉินแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทมีสมบูรณ์ จำกัด และเป็นผู้ประกันตนโดยสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดหรือโรงพยาบาลตามสิทธิที่โจทก์มีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์ คือโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โจทก์ได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้ไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงได้นัดหมายกับแพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 ทางโทรศัพท์ แพทย์นัดให้โจทก์เข้าไปตรวจรักษา โดยฉีดสีเข้าเส้นเลือด ปรากฏว่าเส้นเลือดที่จ่ายไปเลี้ยงหัวใจตัน จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีขยายหลอดเลือดและได้รับโจทก์เข้ารักษาในวันดังกล่าว โจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2546 เสียค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 140,905 บาท ต่อมาโจทก์ไปยื่นขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งว่าโจทก์สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ยังสถานพยาบาลที่กำหนดให้ได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์ และคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาว่า กรณีของโจทก์ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินและปรากฏข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 203/2547 ซึ่งยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า วันที่ 30 สิงหาคม 2546 เวลา 9.30 นาฬิกา โจทก์มาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลพญาไท 2 สำเนาเวชระเบียนระบุอาการแรกรับ BW 79.4 HT 167 BP 140/60 ขอผล Lab จากอุตรดิตถ์คลีนิค (15 สิงหาคม 2546) เวชระเบียนของโรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่าตอนเจ็บหายใจไม่สุดขณะนั่ง ก่อนอาหารไม่แน่นหน้าอก หาวบ่อย ไม่เรอ ไม่นัด ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ขณะโจทก์ไปดูงานก่อสร้างอยู่ที่บริเวณสะพานควายเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หน้ามืดกะทันหัน จนเพื่อนร่วมงานต้องช่วยกันนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ในเวลา 9.50 น. สำเนาเวชระเบียนระบุว่ามาด้วยอาการ BS = 167 BUN =25 Cr = 1.2 Chol = 198 TG = 256 SGDT= 15 SGPT= 20 Alkphos= 37 เจาะ Lab จากอุตรดิตถ์ คลีนิคแล็ป (1 กันยายน 2546) มาด้วยอาการมีแสบตาบ่อย ต้องอมยาบ่อย Admit แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรุนแรงเฉียบพลัน จึงเห็นควรให้พักรักษาในโรงพยาบาลเป็นกรณีฉุกเฉิน และได้ทำการตรวจสวนหัวใจขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด พักรักษาถึงวันที่ 4 กันยายน 2546 เป็นเวลา 2 วัน เสียค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 140,905 บาท ดังนั้นกรณีของโจทก์ซึ่งเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกขณะปฏิบัติงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้ และอาการป่วยดังกล่าวถือได้ว่ามีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้สำหรับโจทก์และเป็นกรณีที่จำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉิน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกินเจ็ดสิบสองชั่วโมง ตามอัตราที่ระบุไว้ในประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งเรื่องของจำนวนค่าบริการทางการแพทย์ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์ต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 140,905 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากกรณีฉุกเฉินจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน