คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือได้ในทางกฎหมาย ทั้งกิจการของบริษัท ร. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในวงศ์เครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ อีกทั้งการที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท ร. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 2 และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท จากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 จำเลยจึงอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด มอบอำนาจให้นายปิยะพงศ์ ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด ต่อนางสาวสุรีย์ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า จำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และส่งมอบหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นแล้วมีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 8 คน นับจำนวนหุ้นได้ 520,000 หุ้น จำเลยเป็นประธานที่ประชุม บริษัทมีมติพิเศษที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 ให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคนห์สนธิ ข้อ 2 และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมซึ่งตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรี โดยมีสำนักงานแห่งใหม่ตั้งอยู่เลขที่ 74/70 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อและรับดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลย ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2554 นางสาวเอมอร และนางวลัย ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีหนังสือถึงนายทะเบียนขอให้ตรวจสอบและเพิกถอนการจดทะเบียน นายทะเบียนได้มีหนังสือสอบถามผู้ถือหุ้นของบริษัทถึงเรื่องดังกล่าวและได้รับแจ้งจากนางสาวเอมอร นางวลัยและแพทย์หญิงลดาวัลย์ ผู้ถือหุ้นว่าไม่เคยได้รับการบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 และไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยความจริงแล้วจำเลยไม่ได้บอกกล่าวนัดประชุม และไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 แต่อย่างใด นายทะเบียนจึงมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิดังกล่าว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวแล้ว สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกามีใจความสำคัญว่า บริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด เป็นกิจการของตระกูลนาวิกผลซึ่งมีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ผู้ถือหุ้นของบริษัทล้วนเป็นเครือญาติกัน การประชุมผู้ถือหุ้นมีวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบริษัทอื่น คือ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเนื่องจากกระทำโดยผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ตามข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือได้ในทางกฎหมาย ทั้งกิจการของบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในวงศ์เครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ อีกทั้งการที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 2 และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 จำเลยจึงอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share