คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2795/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคดีที่จำเลยฟ้องขอหย่าและให้ศาลชี้ขาดว่าจำเลยหรือโจทก์ฝ่ายใดสมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรนั้นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องนำมาคำนึงถึงว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วบุตรจะได้รับความผาสุกและประโยชน์ดีที่สุดมีอยู่หลายประการ นิสัยและจิตใจของผู้ที่จะใช้อำนาจปกครองตลอดจนความสมัครใจของบุตรว่าจะอยู่กับฝ่ายใดล้วนเป็นเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาชี้ขาดในประเด็นข้อนี้ได้ทั้งสิ้นมิใช่มีอยู่เพียงเหตุเดียวเฉพาะที่ศาลชั้นต้นยกมาอ้างอิงเท่านั้นดังนั้นคำเบิกความของจำเลยเกี่ยวกับเหตุเหล่านั้นจึงเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวมาแต่ต้นแม้ศาลจะได้ยกเอามาวินิจฉัย แต่ขณะจำเลยเบิกความข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี หากเป็นความเท็จ ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 53/2529 ของศาลชั้นต้นว่า หลังจากที่จำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยเป็นผู้ประกอบอาชีพหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวตลอดมาโดยเฉพาะปีแรกที่สมรสกับโจทก์นั้นโจทก์ยังไม่ได้ทำงานและยังไม่มีรายได้เลย นับแต่จำเลยสมรสกับโจทก์จนกระทั่งบัดนี้เป็นเวลา 13 ปีเศษ โจทก์ไม่เคยประกอบอาชีพอย่างใดเป็นหลักแหล่งเลยส่วนใหญ่โจทก์จะประกอบอาชีพรับเป็นที่ปรึกษาธุรกิจส่วนตัวและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองและโจทก์เปลี่ยนบริษัทที่โจทก์เป็นที่ปรึกษาอยู่ตลอดเวลา การงานของโจทก์จึงไม่มั่นคงเพียงพอ จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ทำการสมรสมา ส่วนโจทก์ไม่เคยช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรทั้งสองเลยระหว่างบุตรทั้งสองอยู่ที่บ้านโจทก์ที่สหรัฐอเมริกาและจำเลยกำลังรอรับบุตรกลับประเทศไทยตามคำสั่งศาลนั้น บุตรสาวทั้งสองตื่นนอนแล้วต้องหาอาหารรับประทานเองโจทก์และมารดาโจทก์ไม่สนใจใยดี และโจทก์กับพวกทำโทษบุตรสาวโดยให้นอนอยู่ที่ระเบียงบ้านนอกห้องนอน ทำให้หนาวเย็นจัดและว่าโจทก์เป็นคนทารุณโหดร้ายต่อบุตรทั้งสองด้วยและเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า”ข้าฯ กับจำเลยเคยเสียภาษีรวมกันบางปีและต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน เอกสารหมาย ล.231 ถึงล.232 และ ล.233 ที่ทนายจำเลยให้ดูนี้เป็นหลักฐานการเสียภาษีของข้าฯ ร่วมกับจำเลยในปี 2523ถึง 2524 ข้าฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ตามเอกสารหมาย ล.231 และ ล.232 ซึ่งไม่ปรากฏรายได้ของข้าฯ ปรากฏแต่รายได้ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ขอร้องให้ข้าฯ เขียนแสดงรายการไว้และเป็นความเท็จ เพราะแสดงรายรับไว้สูงกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยได้รับใบผ่านภาษีเป็นระยะยาว 6 เดือน””ข้าฯ ยืนยันว่าจำนวนรายได้ของจำเลยที่ระบุไว้ในแบบฟอร์มการเสียภาษีเงินได้นั้นไม่เป็นความจริง” “การกู้เงินจากธนาคารมาทำโรงเรียนนั้นจำเลยไม่เห็นด้วย แต่ถ้าแบ่งเงินให้บ้างจำเลยก็พอใจ ครั่งหนึ่งข้าฯ กู้เงินจากธนาคารประมาณ5,000,000 บาท จำเลยมาขอแบ่ง ข้าฯ ก็แบ่งให้ แต่จำไม่ได้ว่าจำนวนเท่าใด การไปกู้เงินจากธนาคาร จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมไว้ 3 ฉบับ ทั้งนี้เพราะข้าฯ ยอมให้เงินจำเลยไปเป็นจำนวนล้านบาท” “จำเลยไม่เคยให้อะไรข้าฯตลอดชีวิตสมรส”ซึ่งเป็นเท็จทั้งสิ้น และเป็นข้อสำคัญในคดีเกี่ยวกับประเด็นเรื่องฟ้องหย่าและอำนาจปกครองบุตร ความจริงโจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อรู้จักกับจำเลยโจทก์รับราชการเป็นนายทหารยศร้อยโทแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา เมื่อลาออกจากราชการ โจทก์เดินทางเข้ามาประเทศไทยประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาบริษัทธุรกิจหลายแห่งรวมทั้งหน่วยราชการและองค์การสหประชาชาติ โจทก์ทำธุรกิจส่วนตัวทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้มากและสม่ำเสมอโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวตลอดมา จนกระทั่งซื้อที่ดินได้ 40 ไร่ ปลูกบ้านทรงไทยหลังใหญ่และสร้างโรงเรียนวนิษาด้วย โจทก์ให้ความรักและเอาใจใส่ดูแลบุตรตลอดมาไม่เคยทอดทิ้ง โจทก์โอนเงินรายได้ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาให้จำเลยในประเทศไทยเป็นประจำ รวมทั้งรายได้ที่โจทก์ได้รับในประเทศไทยจำเลยเป็นข้าราชการในสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติได้รับเงินเดือนเพียง 1,800 บาท เมื่อจำเลยลาออกจากราชการปี 2522 จำเลยมีเงินเดือนเพียง 3,000 บาท คำเบิกความที่เป็นเท็จของจำเลยดังกล่าวนั้น หากศาลเชื่อว่าโจทก์เป็นคนทารุณโหดร้าย ไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นและความเอาใจใส่แก่บุตร และทอดทิ้งไม่ให้ความรักความอุปการะเลี้ยงดูบุตรและชอบลงโทษบุตรโดยไม่มีเหตุผล ทั้งไม่อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวแล้ว ศาลอาจเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์ได้
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2531 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 452/2530 ของศาลชั้นต้น มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ทิ้งร้างจำเลยเกินกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นความเท็จความจริงจำเลยเป็นผู้จงใจละทิ้งโจทก์ไปเองตั้งแต่ปี 2528โดยย้ายไปอยู่ที่อื่นพร้อมกับบุตรสาวทั้งสอง ไม่ยอมไปอยู่กับโจทก์ทั้งยังห้ามโจทก์ไม่ให้พบกับบุตร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ในคดีแพ่ง โจทก์ จำเลยตกลงหย่ากันคงพิพาทกันในประเด็นข้อเดียวว่าอำนาจปกครองบุตรควรตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์หรือจำเลย และศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าคำเบิกความของจำเลย (เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2531) ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.17 ข้อความที่ว่า “จำเลย(หมายถึงโจทก์คดีนี้) ไม่เคยได้อะไรข้าฯ ตลอดชีวิตสมรส”กับที่เบิกความ (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2530) ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.12 ข้อความที่ว่า “ขณะบุตรทั้งสองอยู่ที่บ้านจำเลยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น บุตรทั้งสองต้องหาอาหารรับประทานเองจำเลยไม่สนใจใยดี กับจำเลยได้ทำโทษบุตรสาวทั้งสองโดยให้นอนอยู่ที่ระเบียงบ้านนอกห้องนอน ทำให้หนาวเย็นจนเกิดความกลัว” นั้นเป็นความเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่จำเลยขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว หากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยจะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ย่อมเสียหาย แม้ในกาณวินิจฉัยคดีดังกล่าวนั้นศาลจะเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วแต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรกวางโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ในคดีแพ่งทั้งสองสำนวนนั้นศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยกำหนดประเด็นว่ามีเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ และอำนาจปกครองบุตรควรตกอยู่แก่ฝ่ายใด ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงกันได้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันตามความประสงค์ของคู่ความ ให้บุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองของจำเลยตามความต้องการของบุตรเป็นประการสำคัญ ศาลชั้นต้นมิได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยขึ้นวินิจฉัย ดังนั้นหากจะฟังว่าคำเบิกความของจำเลยในการพิจารณาคดีแพ่งในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเท็จก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำเบิกความของจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังไว้ดังกล่าวแล้วนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีที่จำเลยฟ้องขอหย่าและขอให้ศาลชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ทั้งนี้ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ” ดังนั้นคำเบิกความของจำเลยที่มีใจความว่า โจทก์ไม่เคยให้อะไรจำเลยตลอดชีวิตสมรสเพื่อบ่งชี้ว่าโจทก์เป็นคนนิสัยตระหนี่ไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อกับเบิกความมีใจความว่า ขณะบุตรทั้งสองอยู่ที่บ้าน(มารดา)โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ไม่สนใจใยดีต่อบุตรทั้งสองปล่อยให้บุตรทั้งสองหาอาหารรับประทานเอง และโจทก์ยังได้ทำโทษบุตรทั้งสองโดยให้นอนที่ระเบียงบ้านนอกห้องนอนทำให้หนาวเย็นจนเกิดความกลัวเพื่อบ่งชี้ว่าโจทก์ไม่มีความรักความห่วงใยในตัวบุตรทั้งสองและโจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดร้ายต่อบุตรทั้งสอง ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองให้ได้รับความผาสุกได้ จึงเป็นข้อสำคัญในคดีที่จำเลยฟ้องขอหย่าและขอให้ศาลชี้ขาดว่าจำเลยหรือโจทก์ฝ่ายใดสมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความจำเลยศาลอาจชี้ขาดให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองโดยเห็นว่าโจทก์มีนิสัยและจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองให้ได้รับความผาสุกได้เท่ากับให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้บุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองของจำเลยตามความต้องการของบุตรทั้งสองเป็นประการสำคัญ มิได้ยกเอาคำเบิกความของจำเลยขึ้นวินิจฉัย หากจะฟังว่าคำเบิกความของจำเลยในการพิจารณาคดีแพ่งในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเท็จก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดีนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องนำมาคำนึงถึงว่าจำเลยหรือโจทก์ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแล้วจะยังให้บุตรทั้งสองได้รับความผาสุกและประโยชน์ดีที่สุดเป็นสำคัญนั้นมีอยู่หลายประการ นิสัยและจิตใจของผู้ที่จะใช้อำนาจปกครองตลอดจนความสมัครใจของบุตรทั้งสองว่าต้องการจะอยู่กับฝ่ายใดล้วนเป็นเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาชี้ขาดในประเด็นข้อนี้ได้ทั้งสิ้น หาใช่มีอยู่เพียงเหตุเดียวเฉพาะที่ศาลชั้นต้นยกมาอ้างอิงเอาไว้โดยเด่นชัดเท่านั้นไม่ดังนั้นข้อเท็จจริงตามคำเบิกความจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อสำคัญในคดีมาแต่ต้นแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะมิได้ยกเอามาวินิจฉัยแต่ขณะจำเลยเบิกความ ข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีหากเป็นความเท็จดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่งได้ ฎีกาของโจทก์จึงฟังขึ้น แต่เนื่องจากว่าจำเลยได้อุทธรณ์โต้แย้งไว้ว่าคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความเท็จนั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
พิเคราะห์แล้ว จำเลยย่อมทราบได้ดีว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ที่จำเลยเพิ่งนำเด็กหญิงวนิษาบุตรจำเลยมาสนับสนุนคำให้การจำเลยในชั้นนี้นั้นไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 177 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29,30

Share