คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ดะโต๊ะยุติธรรมชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชายของบุตรชายผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับชั้นเดียวกับผู้ร้อง และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก็เพื่อจะให้ผู้นั้นเข้าไปมีอำนาจหน้าที่จัดการรวบรวมและแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก เมื่อคดีเกิดในจังหวัดปัตตานี ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอิสลามศาสนิกจึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ มาตรา 3 และ 4 ซึ่งบัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและคำวินิจฉัยชี้ขาดดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามนั้นให้เป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายมะดาโอะหรือมะดาโอ๊ะ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกแจ้งให้ทายาททุกคนทราบ และผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านโดยมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเพียงทายาทลำดับรองในชั้นหลานของผู้ตายโดยอาศัยสิทธิของนายมะแด บิดาผู้คัดค้าน แต่เมื่อนายมะแดตายก่อนผู้ตาย สิทธิในมรดกย่อมสูญสิ้นไป ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยมิได้เจตนาเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางสาวสีตีฮาวอ ผู้ร้อง ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายมะดาโอะหรือมะดาโอ๊ะ ผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งนายอับดุลเลาะ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายมะดาโอะหรือมะดาโอ๊ะ ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทอันดับรองในชั้นหลานของผู้ตาย เมื่อบิดาของผู้คัดค้านถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย สิทธิในการรับมรดกของผู้คัดค้านย่อมตกไปนั้น ในการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ดะโต๊ะยุติธรรมชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชายของบุตรชายผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับชั้นเดียวกับผู้ร้อง และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามให้การเป็นผู้จัดการมรดก เห็นว่า การตั้งผู้จัดการมรดกก็เพื่อจะให้ผู้นั้นเข้าไปมีอำนาจหน้าที่จัดการรวบรวมและแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก เมื่อคดีเกิดในจังหวัดปัตตานีทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอิสลามศาสนิก จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 และ 4 ซึ่งบัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและคำวินิจฉัยชี้ขาดดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามนั้นเป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับชั้นเดียวกับผู้ร้อง และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share