คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงวันที่ที่เขียนลงในเช็คหรือวันออกเช็คและวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่า เป็นวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับเวลา แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นวันเกิดเหตุ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จะมิได้ระบุว่าเป็นเวลาใด ก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์นำเช็คตามฟ้องไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินในเวลากลางวัน อันเป็นเวลาทำการงานตามปกติของธนาคารทั่วไป ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) ถึง (5)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (3) (4) ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 2 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงวันที่ที่เขียนลงในเช็คหรือวันออกเช็คและวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่าเป็นวันที่ 15 กันยายน 2548 แต่โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จะมิได้ระบุว่าเป็นเวลาใด ก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์นำเช็คตามฟ้องไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินในเวลากลางวันอันเป็นเวลาทำการงานตามปกติของธนาคารทั่วไป ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 (5) แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 462,810 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค และในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ให้โอกาสจำเลยหาเงินมาชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวเป็นเวลานานพอสมควรแล้วแต่จำเลยก็มิได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแต่ประการใด ข้อที่จำเลยฎีกาว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดจากแต่เดิมจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ จำนวน 2,150,000 บาท และภายหลังจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 1,687,190 บาท คงค้างชำระหนี้อีกจำนวน 462,810 บาท จำเลยจึงออกเช็คพิพาทชำระหนี้ที่ค้างชำระให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ขวนขวายชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพื่อเป็นการบรรเทาผลร้าย แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share