แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) แม้โจทก์จะใช้สัญชาติของบิดาโดยขอบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ แต่โจทก์ก็ยังคงมีสัญชาติไทย เพราะยังมิได้มีการถอนสัญชาติตามมาตรา 17 วรรคท้าย ต่อมาโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2514 เมื่อโจทก์เสียสัญชาติไทยจึงต้องไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากนายทะเบียนท้องที่ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 8 จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนท้องที่จึงมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและจำเลยมิได้ออกให้ คงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไทยผู้เสียสัญชาติไทยไปและมีสิทธิขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่นำสืบว่าโจทก์ทั้งสี่เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี มีบิดาเป็นคนญวนอพยพ มารดาสัญชาติฝรั่งเศสหนีภัยสงครามมาประเทศไทยแต่บิดามารดาของโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และโจทก์ทั้งสี่มีสูติบัตรมาเป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.4 และ จ.5 เห็นว่า แม้สูติบัตรเอกสารหมาย จ.3 จะมีรอยแก้ปีเกิดของโจทก์ที่ 2 สูติบัตรเอกสารหมายจ.4 แจ้งหลังปีเกิดของโจทก์ที่ 3 หลายปี และสูติบัตรเอกสารหมายจ.5 ของโจทก์ที่ 4 ปีเกิดและเลขที่ของสูติบัตรไม่ตรงกับปีที่แจ้งแต่สูติบัตรเอกสารหมาย จ.3, จ.4 และ จ.5 มีชื่อโจทก์ ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 และมีปีเกิดตรงกับปีเกิดของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้านญวนอพยพ แบบพิมพ์สูติบัตรก็เป็นของทางราชการสูติบัตรของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ยังมีตราของเทศบาลเมืองอุบลราชธานีประทับอยู่ด้วย แม้สูติบัตรของโจทก์ที่ 2 จะไม่มีตราประทับก็น่าเชื่อว่าเป็นของทางราชการ ไม่มีพิรุธว่าเป็นการกระทำปลอมขึ้นทั้งฉบับส่วนที่สูติบัตรของโจทก์ที่ 3 ระบุว่าบิดาชื่อตือไม่ใช่หมึงดังที่โจทก์นำสืบแต่มารดาก็ชื่อลานตรงกัน อาจเป็นเพราะผู้ไปแจ้งบอกชื่อบิดาของโจทก์ที่ 3 ผิดพลาดไป ดังที่นางลานแซ่เหวียนหรือแซ่ฟ่ามมารดาโจทก์ทั้งสี่เบิกความว่าเพื่อนบ้านไปแจ้งการเกิดของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนสูติบัตรเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ที่ 1 แม้จะระบุในสูติบัตรเพียง “ด.ช.”ไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 1 และปีเกิดไม่ตรงกับปีเกิดของโจทก์ที่ 1ตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้านญวนอพยพเอกสารหมาย จ.6 ก็ตามเมื่อมารดาโจทก์มิได้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1 เอง แต่ให้เพื่อนบ้านไปแจ้งจึงอาจผิดพลาดไปบ้างหรืออาจยังไม่มีการตั้งชื่อก็เป็นได้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับหลักฐานอื่น คือสำเนาคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัว (ประวัติคนญวนอพยพ) เอกสารหมาย ล.1, ล.2, ล.3และ ล.4 ก็ระบุว่าโจทก์ทั้งสี่เกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทยบิดาชื่อนายหมึง มารดาชื่อนางลานเอกสารดังกล่าวเป็นของทางราชการที่จำเลยอ้างส่งศาลย่อมเชื่อว่าก่อนที่จะบันทึก คงมีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วจึงเป็นเอกสารที่มีรายการตรงตามความเป็นจริง ฉะนั้น จึงฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.2เป็นสูติบัตรของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสี่เกิดในราชอาณาจักรไทยโจทก์ทั้งสี่จึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3) แม้โจทก์ทั้งสี่จะใช้สัญชาติของบิดาโดยขอบัตรประจำตัวคนญวนอพยพก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังคงมีสัญชาติไทยอยู่ตามกฎหมายเพราะยังมิได้มีการถอนสัญชาติ ตามมาตรา 17 วรรคท้ายจนกระทั่งมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515โจทก์ทั้งสี่จึงถูกถอนสัญชาติไทย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่เสียสัญชาติไทย โจทก์ทั้งสี่จึงต้องไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากนายทะเบียนท้องที่ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ. 2493 มาตรา 8 จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนท้องที่จึงมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทั้งสี่ ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น