คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์รับเช็คพิพาทไว้จากจำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และเพื่อใช้เช็คนั้นดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในการบีบบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ตามเช็คนั้นได้ดังนั้น การที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จะถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องทั้งสามสำนวน จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุกในสำนวนแรกและสำนวนที่สามสำนวนละ 1 ปี ให้จำคุกสำนวนที่สอง2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยรับฟังได้ว่า เมื่อปลายปี 2525 จำเลยต้องการจะตั้งโรงเรียนเกษตรพาณิชยกรรมอยุธยา จึงได้ขอให้นายประกอบ เดชดี สามีของโจทก์ร่างโครงการให้ และโจทก์กับจำเลยร่วมกันติดต่อซื้อที่ดินรวม5 แปลง เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน ในการซื้อที่ดินดังกล่าวโจทก์กับนายประกอบออกเงินมัดจำให้ 400,000 บาทแล้วจำเลยได้ไปทำสัญญากู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอยุธยา5,500,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและเอาที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าวจำนองเป็นประกันเงินกู้ กับโจทก์และนายประกอบยังได้นำที่ดินของนางทองหล่อ สุดสาคร กับนายเอนก บุษปฤกษ์ มาจำนองเป็นประกันเงินกู้ โดยตีราคาที่ดินเป็นเงิน 3,000,000 บาท อีกด้วยแต่จำเลยได้มอบเงินให้โจทก์ไป 1,200,000 บาทจึงคงเหลือหนี้จำนองที่ดินของนางทองหล่อกับนายเอนกอีก 1,800,000 บาทจำเลยจึงจ่ายเช็คให้โจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 400,000 บาทเป็นค่าที่โจทก์กับนายประกอบออกเงินมัดจำค่าที่ดิน ฉบับที่สองจำนวนเงิน 1,800,000 บาท เป็นค่าจำนองที่ดินของนางทองหล่อกับนายเอนกและจำเลยได้ชำระเงินค่าที่ดินทั้ง 5 แปลง แก่เจ้าของไป3,000,000 บาทเศษ และลงชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว เมื่อเช็คทั้ง 2 ฉบับ ที่จำเลยออกให้โจทก์ถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ต่อมาโจทก์ถอนฟ้อง โดยให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมายจ.1 ไว้ ซึ่งตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น จำเลยได้ยินยอมผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 2,160,000 บาท โดยจำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้โจทก์ไว้รวม 6 ฉบับ เป็นเช็คพิพาทคดีนี้ 4 ฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ โดยอ้างว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ขณะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำนวนเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายเงินตามเช็คพิพาททุกฉบับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 4ฉบับนี้เกิดจากการที่จำเลยจ่ายเช็คให้โจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 400,000 บาท ฉบับที่สองจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ขณะจำเลยออกเช็คทั้ง 2 ฉบับ ให้โจทก์นั้น น่าเชื่อว่าโจทก์ทราบฐานะการเงินของจำเลยดีว่า จำเลยไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หนี้ค่ามัดจำที่ดินที่โจทก์กับนายประกอบสามีโจทก์ออกไปก่อน กับไม่มีเงินเพียงพอที่จะไถ่ถอนที่ดินของนางทองหล่อกับนายเอนก เพราะโจทก์กับนายประกอบต่างทราบรายละเอียดในการที่จะก่อสร้างโรงเรียนเกษตรพาณิชยกรรมอยุธยา โดยนายประกอบเองเป็นผู้เขียนโครงการนี้ และโจทก์กับนายประกอบเป็นผู้ติดต่อขอซื้อที่ดินที่จะก่อสร้างโรงเรียนรวม 5 แปลง ซึ่งเมื่อซื้อได้แล้วโจทก์กับจำเลยได้ลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและได้นำที่ดินทั้ง 5 แปลงกับที่ดินของนางทองหล่อกับนายเอนกซึ่งโจทก์กำลังจัดสรรอยู่ไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ของจำเลยอีกด้วยทั้งการที่โจทก์มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเอกสารหมาย ล.20 ให้ระงับการสร้างโรงเรียนของจำเลย โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยคงจะไม่สามารถที่จะหาเงินมาชำระหนี้ค่ามัดจำที่ดินที่โจทก์ออกไปก่อนและไถ่ถอนจำนองที่ดินของนางทองหล่อกับนายเอนกได้ เพราะจำเลยไม่สามารถเปิดกิจการโรงเรียนได้การที่โจทก์นำเช็คทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นแล้วโจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 ขอผ่อนชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้จ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้โจทก์ไว้ 6 ฉบับอันมีเช็คพิพาทคดีนี้รวมอยู่ด้วย 4 ฉบับนั้น เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลบังคับจำเลยในทางแพ่งอยู่แล้ว แต่โจทก์ก็ยังต้องการให้มีผลดียิ่งขึ้นจึงให้จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าไว้ด้วย เพราะหากเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้จำเลยก็อาจมีความผิดทางอาญา ซึ่งจะเป็นผลให้จำเลยต้องขวนขวายหาเงินมาใช้โจทก์ให้จงได้ และการที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามเช็ค 2 ฉบับแรก โจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าเงินในบัญชีจำเลยมีไม่พอจ่าย จำเลยจึงตกอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์บีบบังคับให้จำต้องออกเช็คพิพาท คดีรับฟังได้ว่า โจทก์รับเช็คพิพาทไว้จากจำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.1 และเพื่อใช้เช็คพิพาทดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในการบีบบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ดังนั้น การที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทจึงจะถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

Share