แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นกระบวนการ ไม่อาจจะใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 โดยระบุในคำร้องว่า ประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยมาตรา 124 แล้ว
โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการแต่เป็นการฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้
ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนดและโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ การไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์กระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงานประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนางสาวชัชรีพรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 7 ของเดือน ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือตามกฎหมาย โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และโจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวม 59 วัน คิดเป็นเงิน 39,399 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 จำนวน 20,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2547 โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอให้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 14/2547 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 จำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ส่วนค่าชดเชยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้วินิจฉัยและมีคำสั่งแต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 14/2547 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับคำร้องเรียนของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างจำนวน 20,000 บาท และเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยจำนวน 200,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วมีคำสั่งที่ 14/2547 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 2 นำค่าจ้างจำนวน 20,000 บาท มาจ่ายให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนเรื่องการเลิกจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างและไม่ได้สั่งห้ามโจทก์ไม่ให้มาทำงานตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้วินิจฉัยเพราะโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนางสาวชัชรีพรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีนางพรทิพย์และนายนิคมเป็นหุ้นส่วนโจทก์เป็นลูกจ้างของหุ้นส่วนทั้งสามคน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,000 บาท โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างและเลิกจ้างซึ่งเป็นความเท็จ เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 เตรียมจะจ่ายเงินเดือนให้โจทก์แล้วเพียงแต่ขอให้โจทก์รอเพื่อทำเอกสารการรับเงินแต่โจทก์ไม่รอ จำเลยที่ 2 มิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 เอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 14/2547 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ในส่วนที่ไม่มีคำสั่งในเรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 8 มีนาคม 2547) และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 39,399 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เป็นญาติใกล้ชิด โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี ได้รับเงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท โดยนำเงินสดใส่ซอบมอบให้ แต่ให้เดือนกรกฎาคม 2547 โจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนจึงไปร้องต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินเดือนให้ โจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับนายนิคมหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ของหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ไม่ได้ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่อศาลแรงงานภาค 8 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่…” เป็นการให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นกระบวนการไม่อาจจะใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ การเลือกที่จะใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของลูกจ้างดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องตามแบบคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเอกสารหมาย ล.9 โดยระบุในคำร้องว่า ประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย พนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ดำเนินการ พนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 จึงมิจำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 แล้ว ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 14/2547 ในส่วนที่ไม่มีคำสั่งในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจึงไม่ถูกต้อง แต่ในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกร้องโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 จึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการ แต่เป็นการฟ้องกับบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรงเมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกจึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการต่อไปว่า พนักงานตรวจแรงงานไม่ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขัดคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น เห็นว่า การฟ้องคดีแรงงานทั่วไปหรือการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีก็จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สำหรับคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแรงงานนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือ ต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพร้อมกับฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานภาค 8 จะต้องพิพากษาจึงมีว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 ว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าชดเชยอันมีผลเป็นการทำลายคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่ปรากฏในคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาต่อไปโดยให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชอเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการสุดท้ายโดยยกเอาคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 ที่ว่า “สัมพันธภาพระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นไปโดยราบรื่นตามปกติของนายจ้างและลูกจ้างโดยทั่วไปอีกต่อไป” มาแปลความว่าหมายถึงนายจ้างกับลูกจ้างมีปัญหาเป็นปฏิปักษ์ต่อกันทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่อาจคงสถานะความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนด และโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ การไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์กระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโจทก์ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน