แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโจทก์ 2 ระยะ ระยะแรกจนถึงเกษียณอายุคือวันที่ 22 มิถุนายน 2517 ต่อมาจำเลยต่ออายุการทำงานของโจทก์ไปอีก อันเป็นการจ้างระยะที่สองซึ่งมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2518 ดังนี้วันทำงานของโจทก์สำหรับระยะการจ้างระยะแรกกับระยะที่สองขาดตอนไม่ต่อเนื่องกัน จึงต้องถือว่าการจ้างระยะที่สองเป็นการจ้างใหม่แม้จะ มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่จำเลยมิได้เลิกจ้าง โจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ในการจ้างระยะที่สองนี้อีกจำนวนหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยค่าจ้างเดือนละ ๓,๒๒๐ บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๙,๓๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอันเป็นผลของกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๗ ขณะรับเงินเดือนเดือนละ ๒,๖๔๐ บาท ต่อมาจำเลยอนุมัติให้ต่ออายุการทำงานหลังครบเกษียณอายุไปอีก ๑ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ เงินเดือนเดือนละ ๓,๒๒๐ บาท จึงเป็นการจ้างที่ทำขึ้นใหม่และมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๙,๓๒๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำให้การของจำเลยพอแยกได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ๒ ระยะ ระยะแรกตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ จนถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันครบเกษียณอายุ ระยะที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ การพ้นจากตำแหน่งของโจทก์สำหรับการจ้างระยะแรกจำเลยให้การว่า เป็นผลของกฎหมาย ศาลแรงงานกลางฟังว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้จึงฟังเป็นยุติได้ว่าการออกจากงานเพราะเกษียณอายุของโจทก์เป็นการเลิกจ้างซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำนวนค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางสำหรับการจ้างระยะแรกนี้ยังไม่ถูกต้อง เพราะอัตราค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์ก่อนเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุคือเดือนละ ๒,๖๔๐ บาท โจทก์ทำงานเกินกว่าสามปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คงเป็นค่าชดเชย ๑๕,๘๕๐ บาทส่วนการจ้างระยะที่ ๒ นั้น ตามที่คู่คามรับกันเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ ในระหว่างวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๗ เป็นเวลา ๓ เดือนเศษโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการจ้างระยะที่ ๒ เป็นการขยายกำหนดระยะเวลาทำงานที่ต่อายุการทำงานออกไปจากสัญญาจ้างฉบับเดิมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะวันทำงานของโจทก์สำหรับการจ้างระยะแรกกับระยะที่ ๒ ขาดตอนไปแล้ว ไม่ต่อเนื่องกันฉะนั้นจึงต้องถือว่าการจ้างระยะที่ ๒ เป็นการจ้างใหม่แม้จะมีกำหนดระยะการจ้างไว้แน่นอน แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ในการจ้างระยะที่ ๒ นี้อีกจำนวนหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสุดท้ายโจทก์ทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน ก่อนเลิกจ้างครั้งที่สองโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๓,๒๒๐ บาท ฉะนั้นค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในการเลิกจ้างครั้งที่สองนี้เป็นเงิน ๓,๒๒๐ บาท รวมค่าชดเชยในการเลิกจ้างทั้งสองครั้งเป็นเงิน ๑๙,๐๖๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ๑๙,๐๖๐ บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง