แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มารดาของผู้เยาว์ถึงแก่ความตายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลย ทำให้ผู้เยาว์ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมายผู้เยาว์จึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าผู้ตายได้เคยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์นั้นมาจริงหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบการขนส่งรับส่งผู้โดยสารและสินค้า วันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยทั้งสองขับรถโดยสารในทางการที่จ้างโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังชนนางสมบูรณ์มารดาโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้างถนนถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าปลงศพ และขาดอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอรุณบุตรผู้ตาย เป็นเงินรวม 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียในการเดินรถโดยคิดแบ่งกับจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายอรุณ เพราะบิดาของเด็กชายอรุณยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายอรุณ นายสมบูรณ์ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์ของจำเลยโดยกระทันหัน เป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินไป และคนขับรถคันที่เกิดเหตุไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “สำหรับค่าสินไหมทดแทนในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอรุณ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้ของผู้ตายนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บิดามารดามีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ดังนั้นในการที่ผู้ตายซึ่งเป็นมารดาถึงแก่ความตายเนื่องจากการละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบและเป็นเหตุที่ให้เด็กชายอรุณ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูนั้น อย่าว่าแต่จะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการหารายได้ของผู้ตายดังที่จำเลยฎีกาเลย เพราะแม้ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอรุณหรือไม่ ก็หาจำต้องคำนึงถึงไม่ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าขาดไร้อุปการะเด็กชายอรุณเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงินปีละ 9,000 บาทศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน