แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คพิพาทนอกจากมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (1) (2) (3) (5) (6) และ (7) แล้วยังมีข้อความตามแบบพิมพ์ว่า “จ่าย….หรือผู้ถือ” จึงเป็นเช็คที่มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 988 (4) อีกด้วย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์
การที่จำเลยได้ขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออกและเขียนข้อความว่าจ่ายเงินสดลงไป จำเลยย่อมทราบแล้วว่าธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คที่ตนสั่งจ่ายเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยที่ ๒ สลักหลังแล้วนำมาแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ และเช็คเขียนสั่งจ่ายไม่ถูกต้อง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๑๗, ๘๓, ๘๖
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า การที่จำเลยที่ ๑ ออกเช็คโดยไม่ระบุชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออกเสียนั้น เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือไม่ ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้เอาเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งเป็นเช็คตามบัญชีเงินฝากของนายกีหยง แซ่เอี่ยม มาลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย โดยมีข้อความว่าจ่ายเงินสดแต่ขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออก โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คฉบับนี้และนำไปขอขึ้นเงินจากธนาคาร ทางธนาคารตามเช็คปฏิเสธการใช้เงินโดยอ้างว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้และเช็คเขียนสั่งจ่ายไม่ถูกต้อง ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือไม่แล้ววินิจฉัยว่าเช็คพิพาทนอกจากมีข้อความอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘(๑)(๒)(๓)(๕)(๖) และ (๗) แล้วยังมีข้อความตามแบบพิมพ์ว่า “จ่าย หรือผู้ถือ” จึงเป็นเช็คที่มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘(๔) อีกด้วย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ได้ขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออกและเขียนข้อความว่าจ่ายเงินสดลงไป จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ย่อมทราบแล้วว่าธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นการกระทำของจำเลยที่ ๑ เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คที่ตนสั่งจ่าย เป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓(๑)
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓(๑) ให้ลงโทษจำคุก